เครือข่ายประชาสังคมกระตุ้นรัฐบาลลาวและไทย ให้สอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้เปิดเผยชะตากรรมของสมบัด สมพอนและอ็อด ไชยะวง
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ในโอกาสครบรอบเจ็ดปีการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เกิดขึ้นกับสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมของลาว หน่วยงานที่มีชื่อด้านล่างขอกระตุ้นรัฐบาลลาวและไทย ให้สอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายครั้งนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเปิดเผยที่อยู่ของสมบัด สมพอน และประกันว่าจะเกิดความยุติธรรมกับเขาและครอบครัว
เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจลาวล้มเหลวในการสอบสวนอย่างเป็นผล ต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีสมบัด สมพอน จึงควรมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียงขึ้นมาใหม่ เพื่อค้นหาที่อยู่และชะตากรรมของสมบัด สมพอนโดยไม่ชักช้า คณะทำงานใหม่นี้ควรมีอำนาจในการร้องขอ และได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสอบสวนอย่างเป็นมืออาชีพ เป็นอิสระ ไม่ลำเอียง และเป็นผล สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
ภาคประชาสังคมยังเรียกร้องรัฐบาลลาวและไทย ให้คลี่คลายการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศลาว โดยล่าสุดคือ อ็อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยชาวลาวซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เขาหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. 2562 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อ็อดได้รณรงค์อย่างเปิดเผยให้สังคมตระหนักถึงการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน และการทุจริตซึ่งเกิดขึ้นในลาว ทั้งยังได้เข้าพบผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนสุดโต่งและสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่ผู้รายงานพิเศษจะเยือนประเทศลาว มีการแสดงข้อกังวลต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับอ็อดในแถลงการณ์ร่วมของคณะทำงานด้านการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติ และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสามท่าน ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 25621
นอกจากนั้นกรณีของอิทธิพล สุขแป้น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์และรัฐบาลทหารไทย และลี้ภัยอยู่ในลาว ทั้งหมดหายตัวไปในช่วงระหว่างเดือนมิ.ย. 2559 ถึงธ.ค. 2561 สำหรับสามคนหลัง มีผู้พบเห็นศพของชัชชาญและไกรเดชอีกประมาณสองสัปดาห์ต่อมา อยู่ในแม่น้ำโขงฝั่งประเทศไทย ศพมีลักษณะถูกฟันจนอวัยวะขาด และมีการนำปูนซีเมนต์มาใส่ไว้ในช่องท้อง ส่วนศพที่สามซึ่งคาดว่าเป็นศพของสุรชัย มีรายงานผู้พบศพลอยขึ้นมาใกล้กัน จากนั้นก็หายไป ผลการทดสอบด้านพันธุกรรมเมื่อเดือนม.ค. 2562 ยืนยันว่าทั้งสองศพเป็นชัชชาญและไกรเดช
เราเรียกร้องรัฐบาลลาวและไทยให้สอบสวนกรณีเหล่านี้ ตามแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมและที่อยู่ของพวกเขา ทั้งรัฐบาลลาวและไทยต่างมีพันธกรณีทางกฎหมาย ที่จะต้องสอบสวนโดยพลัน อย่างรอบด้าน และอย่างไม่ลำเอียง และนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มาลงโทษผ่านกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรม
นอกจากนั้นยังเรียกร้องรัฐบาลลาวและไทยให้แสดงสัตยาบัน รับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายโดยทันที โดยลาวและไทยได้ลงนามอนุสัญญานี้แล้วเมื่อเดือนก.ย. 2551 และม.ค. 2555 ตามลำดับ และให้ใช้โอกาสที่จะมีการทบทวนรายงานตามวาระของลาว ตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) เรียกร้องรัฐบาลลาวให้ทำการสอบสวนโดยพลันและอย่างเป็นผล ต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีสมบัด สมพอน โดยการพิจารณารายงานตามวาระฉบับที่ 3 ของลาวจะมีขึ้นในวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ระหว่างการพิจารณารายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของลาวในเดือนม.ค. 2558 ประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติ 10 แห่ง (ออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) เสนอให้รัฐบาลลาวทำการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีสมบัด สมพอน
จนกว่าจะมีการเปิดเผยชะตากรรมและที่อยู่ของผู้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ประชาคมระหว่างประเทศไม่ควรหยุดเรียกร้องให้นำตัวพวกเขากลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย รัฐบาลลาวไม่ควรคิดว่าเราจะยุติการเรียกร้อง โดยเราจะยังเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะทราบคำตอบที่แท้จริงต่อคำถามที่ว่า “สมบัด สมพอนอยู่ที่ไหน?”