บอร์ด สอวช. ชู BCG สนับสนุนการเงิน ตลาดแรงงาน ลดภาษีนำเข้า กำจัดจุดอ่อนประเทศ พร้อมยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมบอร์ดบริหารสำนักงาน ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุมหว้ากอ ชั้น 14 สอวช. โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นกรรมการและเลขานุการ ระดมสมองหาแนวทางยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ชู BCG กำจัดจุดอ่อนประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือถึงแนวทางยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดย World Economic Forum หรือ WEF ที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยการจัดอันดับของ WEF เมื่อเดือนที่ผ่านมา พบว่า รายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 141 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยได้ 68.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ (อันดับที่ 1) และมาเลเซีย (อันดับที่ 27) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 0.6 คะแนน แต่อันดับนั้นลดลงมาสองอันดับ (จากเดิมอันดับที่ 38) ทั้งนี้ การพัฒนาด้าน อววน. ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญที่ส่งผลต่ออันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งตัวชี้วัดด้าน Skill ด้าน Labour Market ด้าน Financial System ด้าน Business Dynamism และ ด้าน Innovation Capacity การประชุมครั้งนี้จึงยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่อแสวงหาแนวทางยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับ อววน. ซึ่งข้อเสนอแนะที่ สอวช. จัดทำมาเป็นข้อมูลที่ดีที่ทำให้ประเทศไทยเห็นภาพตัวเองมากขึ้นว่าอยู่จุดไหน และต้องพัฒนาส่วนใดเพิ่มเติมบ้าง โดยเฉพาะเราได้เห็นว่าการดำเนินงานด้านนโยบายของ อว. เดินมาถูกทางและสามารถช่วยยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้
“นโยบายหนึ่งที่เราเดินมาถูกทาง และเป็นนโยบายที่จะช่วยยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ คือ นโยบาย BCG ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะช่วยแก้จุดอ่อนและเพิ่มขีดความสามารถของไทยในหลายมิติ ทั้งด้านการเงิน เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมีช่องทางการระดมทุนในธุรกิจเกิดใหม่ เพิ่มขีดความสามารถทางด้านตลาดแรงงาน โดย BCG มีแนวทางมาตรการจูงใจในการยกเว้นภาษีแก่ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้าน BCG และลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการวิจัยพัฒนาและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย ซึ่งมาตรการจูงใจลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มแรงงานที่มีทักษะเข้ามาทำงานในประเทศ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาทางอ้อม นอกจากนี้ นโยบาย BCG ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านทักษะ เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนากำลังคนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และยังเป็นนโยบายที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับภาคธุรกิจ เพราะมีการส่งเสริมการปลดล็อคกฎ ระเบียบ และกำหนดมาตรฐานออกระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดช่องทางทางธุรกิจเกิดใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการเพิ่มนวัตกรรมในธุรกิจ BCG เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สอวช. จัดเวิร์คช้อปสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องในประเด็นการขับเคลื่อน BCG ให้เป็นรูปธรรมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ในฐานะที่ สอวช. มีภารกิจในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ทิศทาง และการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการอุดมศึกษา และการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลและผลการวิเคราะห์ว่า เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านที่ใช้ อววน. เป็นกลไกขับเคลื่อน สอวช. จึงได้วิเคราะห์เพื่อจัดทำแนวทางพร้อมข้อเสนอแนะในการยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในด้าน Skill ด้าน Labour Market ด้าน Financial System ด้าน Business Dynamism และด้าน Innovation Capacity โดยด้าน Skill มีข้อเสนอแนะให้มีการสร้างระบบ Future Skill Mapping และระบบ Re-skill & Up-skill เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงหลักสูตรและการสอนที่เน้นกระบวนการด้าน Critical Thinking โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สามารถนำข้อเสนอแนะไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ ด้าน Labour Market แม้ประเทศไทยจะมีความง่ายในการจ้างแรงงานต่างชาติมาก แต่ไม่ได้มุ่งเน้นแรงงานทักษะสูง เพื่อเป็นการยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขัน ไทยจึงควรมีมาตรการ Talent Corp เพื่อส่งเสริมการหาบุคลากรที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ ด้าน Financial System ในส่วนตัวชี้วัดเกี่ยวกับ Financing of SMEs ควรมีการสนับสนุนเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานให้ SMEs เพื่อให้ต้นทุนทางเทคโนโลยีต่ำลง โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนได้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริม SMEs ให้ใช้โครงสร้างพื้้นฐานทางการเงินกลาง เช่น Prompt Pay และ QR Payment เพื่อสร้าง Track Record ที่จะนำไปใช้พิจารณาสินเชื่อ ส่วนตัวชี้วัดเกี่ยวกับ Venture capital availability ควรมีการปรับกฏระเบียบให้เอื้อต่อการระดมทุนและการประกอบการ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสำหรับผู้นำเงินมาลงในกองทุน ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีให้ผู้ร่วมลงทุนสามารถใช้สิทธิได้อย่างที่ควรเป็น
อีกหนึ่งตัวชี้วัดด้าน อววน. ที่ส่งผลต่ออันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ ด้าน Business dynamism ในส่วนตัวชี้วัด Cost of starting a business และ Time to start a business ไทยควรมีการลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการจดทะเบียน จัดตั้งธุรกิจ (Regulatory Guillotine) ส่วนตัวชี้วัด Attitudes Towards Entrepreneurial Risk, Growth of Innovative Companies และ Companies Embracing Disruptive Ideas ควรมีการดำเนินการโครงการมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุง Platform ที่ส่งเสริมการอยู่รอดในช่วงแรกเริ่มการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนควรดำเนินการ Sandbox (สนามทดลองกฎ) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจ Disruptive Business ด้าน Innovation capacity ในส่วนตัวชี้วัด International Co-Inventions, State Cluster Development และ Multi-Stakeholder Collaboration ควรมีการขยายขอบเขต Smart VISA ให้ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม และควรมีนโยบายโครงการลักษณะTalent Corp เพื่อดึงกำลังแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมถึงมีการสนับสนุนความร่วมมือสร้างความเชื่อมโยงภายในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับตัวชี้วัดเกี่ยวกับ Patent Applications หน่วยบริหารและจัดการทุน หรือ PMU ควรมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจด IP ที่ได้จากงานวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการสร้างแพลทฟอร์มเพื่อ Matching ให้เกิดการ Licensing ระหว่างผู้ผลิตผลงานวิจัยและบริษัทเอกชน ส่วนการตัวชี้วัดเกี่ยวกับ R&D expenditures สภานโยบายฯ ได้มีการเสนอเพิ่มงบ R&D ของภาครัฐรวมถึงมีระบบติดตามการใช้งบประมาณ เพื่อเป็นการยกระดับอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย