มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ สสส. รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ชูแนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เชิญชวนผู้ชายช่วยทำงานบ้านไม่โยนภาระให้ฝ่ายหญิง หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในชีวิตคู่ ขณะที่ผลสำรวจกลุ่มผู้ชาย 1 ใน 3 ชี้ แม้ผู้หญิงจะต้องทำงานนอกบ้านแต่งานบ้านก็ต้องเป็นหน้าที่ผู้หญิง และเกินครึ่งที่มองว่าต้องเป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 10.00 น. ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนคุณผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่ ทั้งนี้ได้มีการเดินรณรงค์บริเวณป้ายรถเมล์ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชายโพสต์รูปทำงานบ้านติดแฮกแท็ก #Houseworkchallenge #งานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์แก้ปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย (Thailand Alcohol’s Harm to Others project) ในกลุ่มคนที่มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีภายใต้การดูแล พบว่า ร้อยละ 23 ของเด็กและเยาวชนพักอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มอย่างหนัก เด็กในครอบครัวนี้จะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนักในบ้าน และจากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจากข่าวหนังสือพิมพ์ จำนวน 10 ฉบับ ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 623 ข่าว โดยเป็นข่าวการฆ่ากันสูงที่สุด ร้อยละ 61.6 ซึ่งเกือบทุกประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวมีความเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงกล่าวได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และมีส่วนทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
“ในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ สสส. และภาคี จึงต้องการทำให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในครอบครัว อย่างการช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูกดูแลลูก ถือเป็นการนำเรื่องที่เข้าใจง่าย ดูเหมือนใครๆก็ทำได้ แต่กระทบชิ่งไปถึงรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเห็นได้ชัด งานบ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กทั้งในครอบครัวและระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัว” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชาย อายุ 18-50 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,995 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-14 พ.ย.62 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.9 มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขณะที่ร้อยละ16.9 ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้เกินครึ่ง คือ ร้อยละ 53.5 มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง ซึ่งร้อยละ47 มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ที่น่าห่วงคือ 1ใน3 หรือ ร้อยละ37.5 มองว่าแม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ดี อีกทั้งร้อยละ 33.2 ระบุว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายแต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง สำหรับข้อเสนอแนะต่อประเด็นงานบ้านนั้น ผู้ชายกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 74.2 มองว่า ครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้านและสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็กๆ ร้อยละ73.3 ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคน และสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย
“จากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ชายบางส่วนยังมีความเชื่อที่ว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกบอกถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ดังนั้นคงต้องเริ่มจากจุดนี้ ให้เขามองว่าการทำงานบ้านผู้ชายต้องทำได้ มันไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ค่อยๆปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัวลดลง ทั้งนี้มูลนิธิฯ ตั้งใจรณรงค์แคมเปญนี้เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ เกิดการเปลี่ยนแปลง งานบ้านไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ชายชุมชน พบว่าหลังจากได้ช่วยงานบ้านหลายรายเปลี่ยนไป ให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น ปัญหาต่างๆลดลง ซึ่งอยากให้ช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ รวมถึงภาครัฐต้องปรับหลักสูตรใหม่ สร้างความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะขนาดรูปในหนังสือเรียนยังเป็นผู้หญิงที่ทำงานบ้านฝ่ายเดียวอยู่เลย” นางสาวจรีย์ กล่าว
ด้าน นายไบรอน บิชอฟ ซึ่งมาพร้อมภรรยา ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ ดารานางแบบ กล่าวว่า “ตนเป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่เคยคิดว่าผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องเลี้ยงลูก แต่เมื่อเห็นภรรยาเหนื่อยจากการทำงานนอกบ้าน ก็เริ่มพูดคุยกัน เพื่อที่จะได้รู้มุมมองความคิด เพราะนี่คือบ้านของเรา ครอบครัวของเรา แม้ว่าที่บ้านเราจะจ้างแม่บ้านมาดูแลงานบ้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างให้ช่วยทำโดยเฉพาะการเลี้ยงลูก ถ้าหากเราช่วยกันทำงานบ้าน ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเลี้ยงลูก จะช่วยทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น มีความสุขขึ้น เราเป็นผู้ชายที่อยากทำอะไรเพื่อภรรยาบ้าง และงานบ้านคือความท้าทาย เราอยากเป็นซุปเปอร์แมนในสายตาภรรยาและลูกๆ อะไรที่ทำให้ครอบครัวมีความสุขก็พร้อมทำให้ ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยยุติความรุนแรงภายในครอบครัวได้อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องกล้าเปลี่ยนมุมมองความคิดและกล้าที่จะพูดคุยกันเพื่อครอบครัว ที่สำคัญการปลูกฝัง สอนให้ลูกๆ ได้รู้จักงานบ้านตั้งแต่เล็กๆเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นพื้นฐานที่ดีของเขาวันข้างหน้า รวมไปถึงการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นและตัวเอง การเคารพให้เกียรติกัน เราต้องชัดเจนในเรื่องนี้”
ขณะที่ นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ อายุ 54 ปี ประธานชุมชนซอยสินทรัพย์ เขตดุสิต กทม. กล่าวว่า “จากเดิมที่เคยคิดว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่เคยทำงานบ้าน และมักใช้ความรุนแรง โดยงานบ้านทั้งหมดตนจะแบ่งให้พี่น้องที่เป็นผู้หญิงทำทั้งหมด ทั้งซักผ้า กวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน กระทั่งแต่งงานมีครอบครัว ภรรยาก็ต้องเป็นคนทำทุกอย่าง ตนไม่หยิบจับหรือช่วยอะไรในบ้านเลย อีกทั้งเราเป็นคนชอบกินดื่ม มีเพื่อนฝูงมากก็อยากให้ภรรยาปรนนิบัติพัดวี และบ่อยครั้งที่เวลาเมาก็มาใช้ความรุนแรง เล่นการพนันเสียก็จะหาเรื่องภรรยา ทั้งดุด่า ทำอะไรไม่ถูกใจก็ลงมือทำร้ายร่างกายทั้งตบ เตะ หนักที่สุด คือ เตะจนต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ลูกไม่อยากเข้าใกล้ เราจึงเริ่มคิดได้ และจุดเปลี่ยนอีกอย่างคือครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจ ขาดรายได้ ภรรยาเริ่มทำงานหนัก ทำงานบ้านคนเดียว แถมยังมีหลานต้องเลี้ยง จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ช่วยงานบ้านทุกอย่าง และปัจจุบันก็ลดละเลิกเหล้า ดื่มน้อยลงมาก เมื่อนึกถึงภาพในอดีตยังน้ำตาไหลจนถึงทุกวันนี้ ต้องขอบคุณมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่อดทนกับผม และขยันชวนผมไปร่วมกิจกรรม ร่วมเรียนรู้หลายๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อมั่นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว ครอบครัวสำคัญมากจริงๆ”