11 องค์กรเรียกร้องทางการไทยรับรองให้เนื้อหาของระเบียบผู้ลี้ภัยที่จะออกใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยการคัดกรองผู้ลี้ภัยก่อนสิ้นปีนี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty) Asia Pacific Refugee Rights Network (APRRN) อไซลัมแอคเซส ประเทศไทย (AAT) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ฟอร์ตี้ฟายไรต์ Life Raft International มูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) เครือข่ายสันติภาพโรฮิงญาแห่งประเทศไทย และโครงการก้าวหน้าพัฒนาชุมชน (Step Ahead) ร่วมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้บังคับใช้ และดำเนินงานตามกฎหมายและนโยบาย เพื่อประกันสิทธิและการคุ้มครองอย่างเต็มที่สำหรับผู้ลี้ภัย สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับ และไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ คาดว่าคณะรัฐมนตรีโดยสำนักนายกรัฐมนตรีจะได้พิจารณาร่างระเบียบนี้ก่อนสิ้นปี เพื่อจัดทำกรอบการคัดกรองผู้ลี้ภัย
ในวันที่ 28 ต.ค. ฟอร์ตี้ฟายไรต์และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นอีกหกแห่ง ได้จัดการประชุมให้ข้อมูลแบบปิด เพื่ออภิปรายถึงการจัดทำนโยบายด้านคนเข้าเมืองร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ และตัวแทนทางการทูต ในระหว่างการประชุม ตัวแทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้กล่าวถึงเนื้อหาของร่างระเบียบฉบับนี้ ซึ่งเป็นการจัดทำ “กลไกคัดกรองระดับชาติ” สำหรับผู้ลี้ภัย โดยทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศว่า จะมีการเสนอร่างระเบียบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบภายในสิ้นปีนี้
โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับ UNHCR หน่วยงานซึ่งทำงานกับชุมชนผู้ลี้ภัย และตัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทย เพื่อจัดทำขั้นตอนปฏิบัติในการดำเนินงานตาม MoU อย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทยควรจะ
ขยายเนื้อหาของ MoU เพื่อสนับสนุนมาตรการแทนการกักตัวสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองทุกคน ไม่เฉพาะเด็กและแม่ของเด็ก ป้องกันไม่ให้มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ ขจัดหรือลดการตั้งเงื่อนไขในการประกันตัวให้เหลือน้อยสุด ประกันว่า จะไม่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และจะมีการกักตัวผู้เข้าเมืองด้วยเหตุผลที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ทั้งนี้หลังจากมีการประเมินข้อมูลเป็นรายบุคคล และทั้งนี้หลังจากมีการใช้มาตรการอื่นแทนการกักตัวอย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว และ ให้ถอนการประกาศข้อสงวนตามข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจำกัดพันธกรณีของประเทศไทย ในการขยายสิทธิของอนุสัญญาให้ครอบคลุมถึงเด็กผู้ลี้ภัยด้วย
นอกจากยังเรียกร้องรัฐบาลไทยควรให้ภาคยานุวัติกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว (International Convention on the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families- ICRMW) และสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ เรายังยินดีที่มีโอกาสสนับสนุนรัฐบาลไทยในการจัดทำกฎหมายและนโยบาย และประกันให้มีการดำเนินงานตามข้อปฏิบัติ อย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ