สปสช. รับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พร้อมแจงประเด็นสำคัญ 9 ข้อ
นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันก็ล่วงเข้าปีที่ 17 ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการมีพัฒนาการที่สำคัญ ๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากขึ้น งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรูปแบบ-วิธีการจ่ายเงิน และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้โรงพยาบาลยินดีให้บริการ
ตลอดเส้นทางอันยาวไกล สิ่งที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เดินทางมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ก็คือ “เพื่อนร่วมทาง” ที่แสนดี ซึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนร่วมกัน
การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีระบุไว้ในมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จัดประชุมเป็นประจำทุกปี
ยิ่งเมื่อพิจารณาจาก ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2565) ฉบับทบทวน ในยุทธศาสตร์ที่ 4 : สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งมีการระบุถึงกลวิธีเพื่อปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น โดยให้เพิ่มความสำคัญของ 1. ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ 2. ประเด็นเฉพาะ 3. ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ยิ่งทำให้เห็นถึงการให้น้ำหนักความสำคัญของทุกเสียง เพื่อให้กองทุนบัตรทองเป็นกองทุนของทุกคนอย่างแท้จริง
เมื่อปีที่ผ่านมา (2560-2561) มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ โดยข้อเสนอที่ได้จากการประชุมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบหลักประกันฯ และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้มีสิทธิในกลุ่มอายุ 50-70 ปี หรือการตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี Dolutegravir ในผู้ป่วยดื้อยา หรือการเข้าถึงวัคซีน Pentavalent หรือวัคซีนโรตาป้องกันโรคอุจจาระในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
มาในปีนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดย สปสช.ได้เพิ่มเครือข่ายพยาบาล และกลุ่มเปราะบาง เช่น เครือข่ายคนพิการ พระสงฆ์ เครือข่ายศูนย์เพื่อนหญิงเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกลุ่มเฉพาะเข้ามาในกระบวนการด้วย
ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับวิธีรับฟังและเพิ่มช่องทางการรวบรวมข้อมูล เสริมข้อมูลวิชาการ พัฒนาระบบออนไลน์ และให้ความสำคัญกับประเด็นเฉพาะเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นเฉพาะจากการทบทวนยุทธศาสตร์และปัญหาร่วมกันคือด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
จากการร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับเขตพื้นที่และระดับประเทศจำนวน 10,445 ราย ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์อีก 4,561 ราย ทำให้ในปี 2562 สามารถรวบรวมข้อเสนอได้จำนวน 1,315 ข้อ และกลั่นกรองออกมาเป็น 398 ข้อเสนอ โดยข้อเสนอเหล่านี้จะส่งมอบให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ได้สรุปถึงสาระสำคัญของข้อเสนอ ใน 9 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข มีข้อเสนอให้เพิ่มบริการทันตกรรมในสิทธิประโยชน์ เช่น รักษารากฟันแท้ ครอบฟัน 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์/มาตรฐานการเยี่ยมบ้าน หรือการให้บริการที่บ้านให้ชัดเจน
3. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เพิ่มกองทุนทันตกรรม หรือระบุงบประมาณที่ใช้สำหรับการส่งเสริมป้องกันโรคด้านทันตกรรมให้ชัดเจน และให้เอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ ร่วมให้บริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้ประชาชน รวมถึงเพิ่มการจ่ายชดเชยค่าทำเส้นสำหรับฟอกเลือดชั่วคราว ในผู้ป่วยโรคไต CAPD ที่รอทำเส้น
4. ด้านบริหารจัดการสำนักงาน ให้มีการลงทะเบียนสิทธิสัปดาห์ละครั้ง เพื่อความรวดเร็วในการใช้บริการของผู้ป่วย และเชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ 5. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่/Long Term Care ได้เสนอให้ สปสช. ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้ยกเลิกหนังสือสั่งการเรื่องการกำหนดอัตราค่าตอบแทน Care Giver จาก 600 กับ 1,500 บาท โดยให้ สปสช.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นมาตรฐานเดียว
6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เสนอให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกอำเภอโดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณ หรือจัดเวทีร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ 7. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้สามารถสนับสนุนการสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพได้
8. กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ให้จัดตั้งกองทุนฯ สำหรับผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข โดยให้รวมพระต่างชาติ/พระนักศึกษาต่างชาติ
9. ด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้การจ่ายยาปรุงเฉพาะราย เสมือนกรมบัญชีกลางที่กำหนดเป็นค่ายาแผนไทยให้เบิกได้เฉพาะค่ายาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค ยาแผนไทยประเภทที่ 4 "รายการยาที่ปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย" ให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงสนับสนุนการให้บริการหัตถการการแพทย์แผนไทยตามความจำเป็นด้านสุขภาพ เพื่อการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น หัตถการพอเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ
นพ.ศักดิ์ชัย ระบุว่า ตัวอย่างข้อเสนอใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ อาทิ การเสนอให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ ควรให้มีการร่วมจ่ายจากผู้รับบริการและลดค่าร่วมจ่ายหากผู้ป่วยดูแลสุขภาพตนเองได้ดี การให้มีมาตรฐานรายการยาที่เท่าเทียมกัน ทั้ง 3 กองทุนฯ การกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเยี่ยมบ้าน หรือการให้บริการที่บ้านให้ชัดเจน
ขณะเดียวกัน ยังมีการสนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. เพื่อให้สามารถรับเงินตามประเภทและขอบเขตบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ฉ.11) ได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง คนพิการ และผู้สูงอายุ สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว
“สิ่งที่เราได้จากการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำเอามาพัฒนาต่อ เพื่อปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดีขึ้น แก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง รวมถึงพัฒนาเป็นสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้ ตามเป้าหมายที่ว่าทุกคนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ