รองเลขาธิการ สปสช. อภิปรายระบบบริการสุขภาพ เขต 13 ระบุคน กทม.ใช้สิทธิบัตรทองน้อย เหตุเข้าไม่ถึง-ไม่มั่นใจ เผยแนวทางปฏิรูป ใช้ระบบดิจิทัลเก็บข้อมูล-เพิ่มความสะดวก ยกระดับบทบาทหน่วยบริการปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้าร่วมอภิปรายกลุ่ม “แลไปข้างหน้า: ระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” มุมมองเชิงบริหาร ในประเด็นทิศทางการปฏิรูปสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งอยู่ภายใน การประชุมวิชาการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ: Service Plan Sharing เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2562
นพ.การุณย์ เปิดเผยว่า ประชากรที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีทั้งสิ้น 8,055,122 ราย เป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 3,926,964 ราย หรือราว ๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. 78% และมีทะเบียนบ้านต่างจังหวัด 22% โดยผู้มีสิทธิใน กทม. ส่วนใหญ่คือกลุ่มอายุ 0-24 ปี ขณะที่คนต่างจังหวัดซึ่งลงทะเบียนบัตรทองใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน อายุ 20-59 ปี
นพ.การุณย์ กล่าวต่อไปว่า ใน กทม.มีโรงพยาบาลทั้งหมด 97 แห่ง ในจำนวนนี้ให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 46 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ 28 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 18 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 171 แห่ง ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นรับผิดชอบประชากรรวม 1.9 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิบัตรทองใน กทม.ทั้งหมด
ทั้งนี้ จากภาพรวมการให้บริการผู้ป่วยนอกในสิทธิบัตรทองของ กทม. ประจำปีงบประมาณ 2559 มีผู้มาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 1.07 ล้านคน คิดเป็น 27% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด ขณะที่จำนวนการให้บริการมีทั้งสิ้น 6.64 ล้านครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับทั่วประเทศนับว่าอัตราการใช้บริการของคน กทม. ถือว่าต่ำมาก เช่นเดียวกับการใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพของคน กทม. ซึ่งเมื่อรวมทุกสิทธิแล้วมีการใช้บริการในภาพรวมเพียง 6.12 ล้านครั้ง โดยสาเหตุอาจเป็นเพราะประชาชนไม่รู้หน่วยบริการประจำของตน เข้าไม่ถึง หรือไม่ไว้วางใจในการใช้บริการ
รองเลขาธิการ สปสช. สรุปภาพรวมว่า กทม.มีจำนวนประชากรมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ มีทั้งประชากรแฝง และประชากรที่เข้ามาทำงานในระหว่างวัน แต่จำนวนประชากรบัตรทองกลับน้อยเมื่อเทียบกับเขตอื่น ๆ ขณะที่การให้บริการสุขภาพนั้นมีหลายหน่วยงาน และยังมีความซ้ำซ้อนระหว่างผู้ให้บริการ อีกทั้งหน่วยบริการยังมุ่งเน้นเชิงการรักษาพยาบาล มากกว่าการส่งเสริมและป้องกันโรค
ขณะเดียวกัน แม้จะมีโรงพยาบาลจำนวนมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพราะยังเป็นที่รับจากเขตใกล้เคียง และการกระจายตัวของหน่วยบริการสุขภาพก็ไม่ครอบคลุมประชากรบางส่วน ตามมาด้วยต้นทุนบริการที่สูง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง โดยประชาชนใน กทม. มีความคาดหวังต่อการบริการที่มีคุณภาพสูง ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการระดับปฐมภูมิ ทำให้ไปรับบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
นพ.การุณย์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ กทม. จะต้องมีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง โดยการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ต่อยอดเชื่อมโยงกับระบบที่มีอยู่เดิม โดยแบ่งพื้นที่ร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายรัฐ เอกชน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม สร้างความมั่นใจในคุณภาพบริการ รวมทั้งทำให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการพัฒนาระบบการเงินการคลัง โดยสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน อาจบูรณาการระหว่างงบประมาณของกองทุนฯ และ กทม. ขณะเดียวกันยังต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ กทม. ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
“ในยุคดิจิตอล ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในเขต กทม.สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ตั้งแต่การลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการผ่านโมบายแอปพลิเคชัน การปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมคนเมือง ตลอดจนปรับกลไกการจ่ายเงินให้เหมาะสม” นพ.การุณย์ กล่าว
นพ.การุณย์ ยังระบุถึงการจัดบริการในรูปแบบอื่นๆ ที่ควรทำ เช่น การจัดให้มีหน่วยร่วมบริการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล อาทิ ร้านยา ที่กำลังจะนำร่องซึ่งจะช่วยลดความแออัดไปได้ส่วนหนึ่ง