สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรม หารือร่วมกับ ธปท. เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงิน มาตรการและแนวนโยบายทางด้านการเงิน รวมทั้ง การส่งเสริมความเข้มแข็งให้ SME ไทย ยืนยันชัดสนับสนุน กนง. ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
วันที่ 9 ส.ค. 62 นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับ ธปท. เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงิน มาตรการและแนวนโยบายทางด้านการเงิน รวมทั้ง การส่งเสริมความเข้มแข็งให้ SME ไทย ดังนี้
(1) สภาหอการค้าฯ และสภาอุตฯ สนับสนุนการตัดสินใจของ กนง. ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อดูแลเศรษฐกิจในภาวะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 1.50% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค และต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
(2) ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 5% เป็นผลจากการอ่อนค่าของ USD และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกที่หดตัว แต่การนำเข้าที่ติดลบมากกว่า ในขณะที่การลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมดุลในเรื่องฐานะด้านต่างประเทศ รวมทั้งเร่งให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย
(รูปภาพที่ 1 อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศต่างๆ)
2.1 ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกเพ่งเล็งว่าแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการค้า การอ่อนหรือแข็งของค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน จะมีทั้งคนได้คนเสีย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
(รูปภาพที่ 2 ความท้าทายในการรับมือกับค่าเงินบาท)
2.2 ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีหลายวิธี เริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินบาทหรือสกุลเงินคู่ค้า (Local Currency) เพื่อลดความเสี่ยงที่เงินสกุลหลักมีความผันผวน ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบ 80% แม้ค้าขายโดยตรงกับสหรัฐฯ เพียง 10% โดย ธปท. สภาหอการค้าฯ และสภาอุตฯ จะร่วมกันผลักดันผ่านธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการให้เลือกใช้เงินบาทหรือ Local Currency มากขึ้น รวมทั้งเห็นพ้องกันว่า การสนับสนุนให้ภูมิภาคมี Payment Connectivity เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และค่าใช้จ่ายของแรงงานในการโอนเงินกลับประเทศ
(รูปภาพที่ 3 การค้าขายผ่านเงินสกุลท้องถิ่น)
(3) ที่ประชุมหารือเรื่องมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เห็นว่า มาตรการนี้ช่วยลดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ไม่เหมาะสมหรือสินเชื่อเงินทอน และส่งผลดีในในเรื่องราคาสำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก โดยบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โต 14.2% โดยการซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ แต่การกู้หลังที่ 2 ขึ้นไปหดตัว 13% ซึ่งเป็นผลจากคอนโดมีเนียมเป็นหลัก ในขณะที่เริ่มเห็นราคาของคอนโดมีเนียมปรับลดลง ทำให้คนที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่จริง (real demand) ซื้อได้ถูกลง อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลเพียง 3 เดือน โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์และรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นผู้กู้ร่วม ซึ่ง ธปท. รับไปพิจารณาต่อไป
(รูปภาพที่ 4 มาตรการ LTV)
(4) ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งในมิติการมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจากับสถาบันการเงิน และการใช้ข้อมูลใหม่ๆ ในการขอสินเชื่อ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผลักดันในหลายส่วน อาทิ การผลักดันให้สถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลอื่นในการพิจารณาสินเชื่อ (Information-based Lending) การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น P2P Lending การสนับสนุนใช้ FinTech e-Payment เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
(5) ธปท. สภาหอการค้าฯ และสภาอุตฯ เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะกระทบความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้จะเป็นต้นทุนแฝงของประเทศ เป็นต้นทุนของทุกภาคส่วน โดยมีหลายเรื่องที่ ธปท. สภาหอการค้าฯ และสภาอุตฯ จะทำงานร่วมกัน อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการกำหนดราคา หรือการแก้ปัญหา SME เมืองรอง และการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ SME ซึ่งจะช่วยสถานการณ์สภาพคล่องและฐานะการเงินของ SME เพื่อให้ SME ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป