นิด้าโพลเผย ผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี2558 ด้านความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนคำนำหน้า 54.49% ระบุ เพศที่ 3 ควรเปลี่ยนคำนำหน้าได้
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเพศที่ 3 ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม และการเพิ่มช่องเพศทางเลือกในการกรอกเอกสารราชการ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.15 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ วัดกันที่ความสามารถและนิสัยใจคอเป็นหลัก ไม่ควรเอาเรื่องเพศมาเป็นการตัดสิน ถือว่าเป็นคนในสังคมเหมือนกันทุกคน อีกทั้งมีเพื่อนเป็นเพศที่ 3 ที่คอยสร้างความสนุกสนานและเพิ่มสีสันให้กับชีวิต รองลงมา ร้อยละ 7.78 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 2.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ยอมรับได้ในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่สามารถยอมรับได้ มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 88.72 ยอมรับได้ ร้อยละ 10.00 ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 1.28 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
ด้านการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.81 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ ในเมื่อเป็นไปแล้วก็ต้องทำใจยอมรับ ถึงยังไงก็ถือว่าเป็นคนในครอบครัว ไม่สามารถตัดขาดกันได้ เพียงแต่ขอให้เป็นคนดี สามารถดูแลตัวเองได้ก็พอ ครอบครัวก็มีสมาชิกเป็นเพศที่ 3 อยู่เหมือนกัน รองลงมา ร้อยละ 11.44 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ เป็นการฝืนธรรมชาติ ถือเป็นภาพลักษณ์ของครอบครัว ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ยอมรับได้ในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่สามารถยอมรับได้ มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 79.92 ยอมรับได้ ร้อยละ 16.80 ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 3.28 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.49 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 36.53 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ บางคนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเพศไหน อาจเกิดความสับสนวุ่นวายตามมา เช่น การตามหาตัวบุคคล การติดต่อเอกสารหน่วยงานต่าง ๆ ควรใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพเดิม และร้อยละ 8.98 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วย นั้น ร้อยละ 56.56 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 กลุ่มที่แปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ขณะที่ ร้อยละ 43.44 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 ทุกกลุ่มสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่เห็นด้วยในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น อย่างชัดเจน และไม่เห็นด้วย มีสัดส่วน ลดลง อย่างชัดเจนเช่นกัน โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 39.44 ที่เห็นด้วย ร้อยละ 53.20 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 7.36 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือกในการกรอกข้อมูลเอกสารราชการทุกชนิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.69 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นการระบุให้ชัดเจน เป็นการเพิ่มช่องเพศให้ตรงกับเพศที่อยากจะเป็น และ ง่ายต่อการระบุหรือจัดประเภท รองลงมา ร้อยละ 26.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่สามารถแยกแยะเพศสภาพที่แท้จริงได้อาจเกิดปัญหาตามมา ควรระบุให้ตรงกับเพศสภาพ และร้อยละ 7.39 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่เห็นด้วยในปี 2562 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น และไม่เห็นด้วย มีสัดส่วน ลดลง โดยผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ร้อยละ 59.36 เห็นด้วย ร้อยละ 35.12 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 5.52 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ