นิด้าโพลเผย ผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “นักการเมืองแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล” ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจและรู้สึกเบื่อกับการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียลของนักการเมือง ระบุควรแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการในสภาฯ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นักการเมืองแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,279 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับนักการเมืองที่ชอบแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล เช่น facebook twitter Instagram เป็นต้น อาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อนักการเมืองที่ชอบแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.53 ระบุว่า น่าเบื่อ เมื่อไรจะเลิกสักที รองลงมา ร้อยละ 19.16 ระบุว่า เป็นการพยายามเอาชนะทางการเมืองกันต่อหน้าสาธารณะ ร้อยละ 17.36 ระบุว่า เป็นการใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง ร้อยละ 9.85 ระบุว่า เป็นพวกที่พยายามทำตัว เป็น Net Idol สร้างกระแสเรียกร้องความสนใจ และเป็นแค่ละครการเมืองน้ำเน่าฉากหนึ่ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 9.15 ระบุว่า เป็นความพยายามสื่อสารกับสาธารณะโดยตรง ร้อยละ 6.41 ระบุว่า เป็นการเพิ่มบทบาททางการเมืองนอกสภาฯ ร้อยละ 5.47 ระบุว่า เป็นพวกที่ไม่ทุ่มเทกับงานในสภาฯ ร้อยละ 4.14 ระบุว่า เป็นพวกที่กลัวการเผชิญหน้า ขาดความกล้าหาญ ร้อยละ 2.66 ระบุว่า เป็นการป้องกันความรุนแรงที่ไม่จำเป็นจากการเผชิญหน้า ร้อยละ 4.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ รู้สึกเฉย ๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นการใช้สื่อโซเชียลที่ไม่ถูกต้อง และร้อยละ 11.88 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความสนใจของประชาชนต่อการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันของนักการเมืองผ่านสื่อโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.16 ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความสนใจ รองลงมา ร้อยละ 29.24 ระบุว่า ไม่สนใจเลย ร้อยละ 24.78 ระบุว่า ค่อนข้างให้ความสนใจ ร้อยละ 7.04 ระบุว่า ให้ความสนใจมาก และร้อยละ 0.78 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงช่องทางที่นักการเมืองควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.07 ระบุว่า ควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันอย่างเป็นทางการในสภาฯ รองลงมา ร้อยละ 22.67 ระบุว่า ควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อกระแสหลัก เช่น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ร้อยละ 16.34 ระบุว่า ควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันซึ่งหน้า ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ควรแสดงความคิดเห็น ตอบโต้กันในเวทีสาธารณะต่าง ๆ เช่น งานสัมมนา เวทีปราศรัย ฯลฯ ร้อยละ 9.07 ระบุว่า ควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรเเสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำหรับให้นักการเมืองมาแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะ และร้อยละ 4.85 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ