ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐตามหลักการ 7 ข้อเน้นแก้ปัญหาเรื่องออกใบอนุญาต-ค่าตอบแทนต่ำ-ปัญหากฎระเบียบทำให้ จนท.เกิดความสับสน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมาสำนักข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกเอกสารข่าวแจกกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแก้ปัญหาการลักลอบดูดทราย โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า
ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการดูดทรายในที่ดินของรัฐ ทั้งกรณีการดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต (ลักลอบดูดทราย) ปัญหาผู้ประกอบการดูดทรายเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต ปัญหาผลกระทบจากการดูดทรายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในหลายกรณีพบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในรูปแบบการเรียกรับสินบน การเอื้อประโยชน์ รวมถึงข้อขัดข้องของระเบียบกฎหมายที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมิอาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นผลดีต่อราชการได้ นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 63/2567 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 จึงมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม
การทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อมาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/3264 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป
สรุปแนวทางการการดำเนินการตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ ดังนี้
1.กระบวนการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตล่าช้า
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ “คู่มือสำหรับประชาชน” สำหรับการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหาความล่าช้าเนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะดูแลเฉพาะกระบวนงานที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น ในภาพรวมทั้งระบบจึงยังขาดการบูรณาการเท่าที่ควร นอกจากนี้ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ยังไม่มีแนวทางและระยะเวลาที่ชัดเจน
ป.ป.ช.จึงเห็นควรให้เสนอต่อรัฐบาลว่าควรพิจารณามอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการอนุญาตให้ดูดทรายทั้งระบบ โดยเน้นให้ทุกหน่วยงานลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ดำเนินการ ให้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และร่วมดำเนินการในบางขั้นตอนที่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อรัฐบาลว่าควรมอบหมายกรมที่ดินเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมเจ้าท่า จะดำเนินการรวมกันในการพิจารณาลดขั้นตอน ระยะเวลา เกี่ยวกับการอนุญาตในแต่ละฉบับที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ และจัดส่งให้กรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก
2.กฎหมายกำหนดอัตราค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าทรายในปัจจุบัน อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ
ป.ป.ช.เสนอให้ ค่าตอบแทนจากการอนุญาตให้ดูดทรายตามแนบท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9/1 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 28 บาทต่อลูกบาศก์เมตร อาจไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มูลค่าทรายในท้องตลาดมักมีมูลค่าสูงกว่ามาก รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการดูดทรายบางรายที่ไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้ภาครัฐ ตามมูลค่าจริงของทรัพยากรทราย
ส่วนข้อเสนอของ ป.ป.ช.ต่อกระทรวงมหาดไทยระบุว่า
(1) เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าตอบแทนกรณีดูดทราย ในแนบท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9/1 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
(2) เห็นควรพิจารณากำหนดวิธีการหรือแนวทางให้ อปท. สามารถจัดเก็บค่าตอบแทนจากการดูดทรายตามที่ผู้ประกอบการดูดได้จริง เพื่อให้ อปท.ได้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่า
- กรมที่ดินอยู่ระหว่างการแก้ไขบัญชีค่าตอบแทนท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน โดยได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและใช้จ่ายไว้ในบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน ตามมาตรา 9 (2) หรือมาตรา 9 (3) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานทบทวนอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและการเรียกเก็บค่าบริการในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน และจะได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวง มหาดไทยตรวจพิจารณาต่อไป
- กรมที่ดินอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวง มหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 สำหรับประเด็นดังกล่าวได้มีการแก้ไขโดยกำหนดให้มีการคำนวณปริมาณทรายเพื่อเสียค่าตอบแทนตามปริมาณทรายที่ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการได้จริง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจสอบ และประเมินปริมาณทราย เช่น ตรวจสอบจากบัญชีรับ-จ่ายทรายจากท่าทราย ระบบภาษีท่าทรายได้ชำระ เป็นต้น
3.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ข้อ 26 ที่ระบุว่า “...เมื่อได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้ จนกว่าจะได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตนั้น…” อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสับสนหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
ป.ป.ช.สรุปว่าพบข้อเท็จจริงว่า อปท. บางแห่งมิได้ดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนจากผู้ประกอบการที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด เนื่องจากอาจไม่ทราบแนวปฏิบัติดังกล่าวหรืออาจมีปัจจัยอื่น อาทิ ผู้ประกอบการเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือผู้ประกอบการอาจอ้างว่ายังไม่มีใบอนุญาตนำมาประกอบการจ่ายเงิน ประกอบกับระยะเวลาการพิจารณาต่อใบอนุญาตค่อนข้างนาน ซึ่งมักไม่แล้วเสร็จทันระยะเวลาที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด จึงปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนว่า มีผู้ประกอบการลักลอบดูดทรายโดยไม่มีใบอนุญาตหรือใบอนุญาตหมดอายุเป็นระยะ
ป.ป.ช.ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทยระบุว่าเห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย ในส่วนที่ว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตและการต่อใบอนุญาต โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรการในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุแนวทางแก้ไขในระยะสั้นว่า คณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย (กพด.) มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ให้เร่งรัดการดำเนินการพิจารณาคำขอดูดทราย/คำขอต่อใบอนุญาตดูดทรายให้เสร็จภายในกำหนดเวลาก่อนใบอนุญาตเดิม สิ้นอายุ ซึ่งกรมที่ดินจะได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยกรมที่ดินจะได้บรรจุประเด็นดังกล่าวในแผนตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ กรมที่ดิน
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 โดยคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทราย (กพท.) ได้มีคำสั่ง ที่ 1/2565 ลงวันที่ 23 กันยายน 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวง มหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ซึ่งคณะทำงานฯ ตามคำสั่งดังกล่าวได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 7 หมวด
4. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ไม่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีดูดทราย
ป.ป.ช.เห็นว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ข้อ 18 (2) กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตโดยให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของราษฎร ความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากรธรรมชาติ ให้ได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท. ซึ่งในทางปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ลงวันที่ 3 มกราคม 2561 แจ้งเวียนแนวทาง โดยกำหนดให้ อปท. มีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้นำเรื่องการประชุมประชาคมตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. 2551 ข้อ 44 มาใช้โดยอนุโลม แต่ยังคงเป็นดุลพินิจของ อปท.ในการพิจารณาถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเดือดร้อนของราษฎร ความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากรธรรมชาติ ดังกล่าว และจากการศึกษา พบว่า อปท. บางแห่งอาจไม่มีการทำประชาคม ในขณะที่บางแห่งไม่ได้ดำเนินการทำประชาคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังพบข้อเท็จจริงว่า
การดำเนินการทำประชาคมของ อปท. ยังมีมาตรฐานไม่เท่ากัน อปท. บางแห่งได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด รัดกุม โดยแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการร่วมจัดทำประชาคมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ อปท. บางแห่งใช้วิธีส่งแบบแสดงความคิดเห็นไปยังผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น
ป.ป.ช.ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทยต่อกรณีนี้เห็นว่า เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย โดยกำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกกรณี ทั้งกรณีการออกใบอนุญาตใหม่และการต่อใบอนุญาต โดยให้นำความคิดเห็นของผู้คัดค้านมาประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้ผู้ขออนุญาตจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการพิจารณา ตลอดจนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดูดทรายอย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีพื้นที่ที่ขออนุญาตดูดทรายอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งแห่ง หรือพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพลำน้ำ รวมถึงการขนส่งทราย จังหวัดหรืออำเภอควรบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
เห็นควรกำหนดแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ชัดเจนและมีวิธีการที่หลากหลาย โดยอาจใช้ทั้งวิธีทำประชาคมและการรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กัน และให้มีการนำเสนอข้อมูล ที่ครบถ้วนรอบด้านต่อที่ประชุมประชาคม หรือเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวประกอบการรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน
และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยอาจจัดให้ประชาชนที่ประสงค์จะเข้าฟังการประชุมได้เข้าฟังการประชุมของสภาท้องถิ่น ตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภาท้องถิ่นกำหนด ตามนัยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ข้อ 117 วรรคสี่ หรือการถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามวรรคห้า
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดแนวทางปฏิบัติ โดยให้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางให้ผู้ขออนุญาตจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” และให้กรมที่ดินนำหลักการ ข้อคิดเห็น ที่เป็นที่ยุติแล้ว รับไปปรับปรุงระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
5.ปัญหาการขาดการศึกษาวิเคราะห์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นกรณีการดูดทราย
ป.ป.ช.ระบุว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ข้อ 18 (1) กำหนดหลักเกณฑ์ในด้านวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต โดยให้คำนึงถึงความเสียหายแก่สภาพตลิ่ง สภาพของลำน้ำ แต่จากข้อเท็จจริง พบว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน และยังไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในระเบียบ แนวทาง หรือมาตรการใด ๆ ว่าควรมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเสนอกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการดังนี้
5.1 เห็นควรให้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณากำหนดคู่มือหรือแนวทางให้ผู้ขออนุญาตดูดทรายจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” เพื่อใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตดูดทราย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย
5.2 เห็นควรให้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไข “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” โดยนำสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดูดทรายทั่วประเทศมาพิจารณาดำเนินการ
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ใดมีทรัพยากรทรายที่สามารถดูดได้ต่อเนื่องหลายปี หรือการดูดทรายในบริเวณนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง อาจพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำ “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE)” ด้วยก็ได้ โดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม
- ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไข “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” ให้แล้วเสร็จก่อน กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณากำหนดคู่มือหรือแนวทางการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว
- ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไข “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” โดยนำสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดูดทรายทั่วประเทศมาพิจารณาดำเนินการ
6. ปัญหาการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตในลักษณะของการเรียกรับสินบน
ป.ป.ช.เห็นว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 ข้อ 36 กำหนดให้จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา ควบคุมดูแล ให้การดำเนินการดูดทรายเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ซึ่งการดำเนินการตรวจตราการดำเนินการดูดทราย ควรมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ป.ป.ช.จึงแนะให้กระทรวงมหาดไทยเห็นควรพิจารณากำหนดให้ทุกจังหวัดที่มีการอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ เพื่อตรวจตรา ควบคุมดูแล ให้การดำเนินการดูดทรายเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ทั้งนี้ ให้คณะทำงานร่วมดังกล่าว รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการผลักดันแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565) และคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนด
ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานตรวจตรา ควบคุมดูแล รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ประกอบด้วยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่า กรมป่าไม้ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา และให้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ในพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์
สำหรับประเด็นการกำหนดคณะทำงานจะรับไปปรับในร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. .... ให้สอดคล้องต่อไป
7.ปัญหาการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามและตรวจสอบการดูดทราย
ป.ป.ช.ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวในการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีความตื่นรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติมิชอบมากขึ้น แต่จากการลงพื้นที่ พบว่า ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตให้ดูดทรายได้โดยสะดวก ทำให้ไม่ทราบว่าในพื้นที่ของตนมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ดูดทรายจำนวนกี่ราย และไม่ทราบว่ารายใดได้รับอนุญาตถูกต้อง รายใดลักลอบดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
ป.ป.ช.จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐระบุว่า
เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมป่าไม้) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และหน่วยงานอื่นพิจารณาดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน อย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้ ได้แก่ ผลการพิจารณาของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มติคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และชื่อ – นามสกุลของบุคคล/นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต จำนวนพื้นที่ตามใบอนุญาต และระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบ
ให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน อย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลดังนี้ ผลการพิจารณาของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มติคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ชื่อ - นามสกุลของบุคคล/นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต จำนวนพื้นที่ตามใบอนุญาต และระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบ