‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เปิดเวทีสาธารณะ 20 ธ.ค.นี้ รับฟังเสียงคนใช้ ‘รถเมล์’ สะท้อนปัญหา หลัง ‘ขบ.’ ปฏิรูปรถเมล์ โดยไม่รับฟังเสียงประชาชน
..........................................
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเปิดเวทีสาธารณะ ณ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังเสียงประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิรูปรถเมล์ หลังจากก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ดำเนินการปฏิรูปสายรถเมล์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยไม่เปิดรับฟังความเห็นของผู้ใช้บริการ
“กรมการขนส่งทางบกปฏิรูปรถเมล์ โดยไม่เปิดรับฟังความเห็นของผู้ใช้บริการ ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงอาสาเป็นแกนนำเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน เพื่อส่งต่อให้กับทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์ ซึ่งได้รับการเชิญให้มาร่วมเวทีสาธารณะครั้งนี้ รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของผู้โดยสาร และหน่วยงานสามารถนำไปแก้ไขอย่างตรงประเด็นและเกิดประโยชน์กับผู้โดยสารให้มากที่สุด” นางนฤมล กล่าว
ทั้งนี้ ในเวทีสาธารณะดังกล่าว จะมีการเปิดรับฟังปัญหาของผู้ใช้รถเมล์ใน 5 ประเด็น คือ 1.รถไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ หมายความว่า มีรถให้บริการเฉพาะบางพื้นที่ หรือบางพื้นที่ถูกตัดเส้นทางให้สั้นลงจนต้องจ่ายเงินหลายต่อ จากเดิมที่นั่งสายยาวไปถึงปลายทาง 2.รถน้อย คอยนาน หมายถึง มีรถให้บริการ แต่มีรถวิ่งน้อย จึงต้องคอยนาน 3.ภาระค่าใช้จ่ายจากราคารถแตกต่างกัน ในแต่ละผู้ให้บริการ
4.จุดจอดเป็นป้ายรถเมล์เดิมทำให้สับสนเลขสาย แถมแอปฯ ก็ไม่มีบอกเส้นทาง และ 5.รถเก่า ความปลอดภัยไม่มี รถไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงต้องผลักดันให้เกิดการใช้รถ EV
นางนฤมล กล่าวว่า การที่กรมการขนส่งทางบกปฏิรูปรถเมล์โดยไม่ได้รับฟังเสียงจากประชาชน ทำให้ขาดการข้อมูลความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างที่ชัดเจน ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค เช่น เดิมขึ้นรถสายเดียวยาวถึงปลายทางจ่ายค่าโดยสาร 8 บาท แต่หลังปฏิรูป รถเมล์ถูกปรับเส้นทางให้สั้นกว่าเดิม หรือ อ้อมกว่าเดิม ผู้โดยสารจึงต้องขึ้นรถเมล์เส้นทางใหม่อีกหลายต่อ ได้สร้างภาระให้ต้องแบกรับต้องจ่ายเงินเที่ยวละ 15 -25 บาท
“เมื่อปฏิรูปเส้นทางใหม่ กลายเป็นว่ารถไม่มีวิ่งหรือมีวิ่งแต่รถน้อย ปล่อยให้ผู้ใช้บริการใช้ชีวิตแบบเดาเอาเอง ส่วนข้อเสนอที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยยื่นต่อกรมการขนส่งทางบกนั้น มีเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับการตอบสนอง คือ เลขสายใหม่ที่ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นเลขเดิม โดยมีวงเล็บเลขใหม่ตามหลัง ในขณะที่ปัญหาเดิมๆยังคงอยู่ เช่น สาย 26 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-มีนบุรี หลังปฏิรูป จากมีนบุรีจะตัดสิ้นสุดปลายทางที่หมอชิตใหม่ ผู้โดยสารจึงต้องเสียเงิน 2 ต่อ เพื่อขึ้นรถเมล์มาปลายทางที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” นางนฤมล กล่าว
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำโพลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสาร จากการเก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 11 -31 ต.ค.2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 667 ราย พบปัญหาใหญ่อันดับ 1 คือ รถน้อยคอยนาน มีผู้ร้องเรียน 75.6% อันดับ 2 คือ แผนปฏิรูปรถเมล์สร้างผลกระทบให้ประชาชน โดยทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น มีผู้ร้องเรียน 66% และ อันดับ 3 คือ สับสนกับเลขสายรถที่ปรับใหม่ มีผู้ร้องเรียน 60.7%