‘สนธิ’ นำทีมบุกศูนย์ร้องเรียน ทำเนียบฯ ยื่น 6 ข้อเรียกร้องเลิก MOU 2544 ก่อนขีดเส้น 15 วัน ถ้าไม่ทำตามจ่อยกระดับมาตรการต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30น. ที่บริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล) ห้องประชุม1111 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต, ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์, นายนิติธร ล้ำเหลือ และร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงกรณีเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา 2544 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูด จ.ตราด หลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อ้างว่าเกาะกูดยังเป็นของไทย และเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2544 ไม่สามารถยกเลิกได้ โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุม แจ้งว่าจะยังคงไม่มีการนำมวลชนลงถนนโดยจะให้เวลาในการฟังคำตอบจากรัฐบาล 15 วัน หากยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีมาตราการในการขับเคลื่อนต่อไป และขอให้รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ครบทุกด้าน โดยให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังด้วย
@เปิด 6 ข้อเสนอ
สำหรับเนื้อหาในหนังสือมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) ให้ท่าน (นายกรัฐมนตรี) และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีปซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย ผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงแห่งรัฐในพื้นที่ทะเลอาณาเขตต่อเนื่องรอบเกาะกรูด รวมทั้งเขตไหล่หวีปตามพระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดทะเลอาณาเขต เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2509และพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 ซึ่งเป็นการประกาศตามมูลฐานแห่งอนุสัญญากรุงเจนิวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 (UNCLOS 1982) อันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตามบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 5 ของหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐรรมนูญแห่งราชอาจกจักรไทย พุทธศักราช 2560
2) ให้ท่านเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และ 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่แรก และขัดและแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 หรือไม่ รวมทั้งขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ตามมาตรา 178 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้ได้ข้อยุติในข้อสงสัยนี้เสียก่อน
3) หากดำเนินการตาม 2) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธธรรมนูญ ให้ยกเลิกการเจรจาตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกันพูชา ที่ละเมิดอำนาจอธิบไตยพื้นที่น่านน้ำภายในของราชอาณาจักรไทยเหนือเส้นฐานตรงที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ถึงทิศใต้ปลายสุดของเกาะกูด และเส้นเขตไหล่ทวีปที่ละเมิดอำนาจอธิบไตยทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูดของราชอาณาจักรไทย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระบรมราชโองการประกาศกำหนดความกว้างทะเลอาณาเขตประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2509 และขัดต่อหลักการ "เส้นมัธยะ" ตามพระบรมราชโองการประกาศเขตไหลทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 ซึ่งเป็นการอนุวัติตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) แล้ว
4) หากดำเนินการตาม 2) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญญนิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC2544 ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของการรักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีปซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงหาทรัพยากรธรรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย ผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงแห่งใฐพื้นที่ทะเลอาณาเขตต่อเนื่องรอบเกาะดูด รวมทั้งเอดไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดทะเลอาณาเขตเมือวันที่ 6 ต.ค. 2509 และพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 จึงเป็นการประกาศตามมูลฐานแห่งอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1986 (UNCLOS 1982) ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 1 และมาตรา 52 ของหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ก็ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ขอบเขตการเจรจากำหนดเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการก็ได้ หรือให้คณะรัฐมนตรีมีการเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ขอบเขตของการเจรจากำหนดเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของ "เส้นมัธยะ" ในการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนตามจริงของฐานแห่งบทบัญญัติอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ประกอบกับอนุสัญญาสหประชาติกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 แล้วนำผลของการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้เจรจาเสร็จสิ้น ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็นพระราชโองการ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 1 และมาตรา 178 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ต่อไป
5) ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee : JTC) ตาม MOU 2544 และ JC 2544 ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามตามบทบัญญัติของมาตรา 1 และมาตรา 178 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระบรมราชโองการ รวมทั้งอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982)
6)ให้จัดเวทีสาธารณะให้แก่ประชาชนในเรื่อง MOU2544 และ JC2544 โดยให้มีให้ความเห็นของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งที่มีความเห็นต่างและที่มีความเห็นด้วยในเวทีอภิปรายสาธารณะซึ่งมีความเป็นกลางและเป็นธรรม ในสัดส่วนของเวลาที่เท่ากัน เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ขอให้ท่านเสนอหนังสือฉบับนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และหากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีผลเป็นประการใดขอได้โปรดแจ้งข้าพเจ้าได้ทราบ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหนังสือฉบับนี้