อัยการระบุ ‘ทนายตั้ม’ โดนข้อหา ที่หาดูได้ยาก ระบุ ความผิดฐาน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ บัญญัติอยู่ใน พรบ.ฟอกเงินฯ เป็นการผสมผสานของกฎหมาย ตัดวงจรอาชญากรรม คุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับสุจริตชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 10 พ.ย. จากกรณีที่มีการยื่นคำร้องฝากขัง นายษิทธา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้มในข้อหาฉ้อโกง ,ฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18), มาตรา 5, มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
โดยมีรายงานว่าในคำร้องฝากขังทนายตั้มได้มีการบรรยาย ว่าการกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 (ทนายตั้ม) เป็นความผิดฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อยู่ด้วยนั้น
เเหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า คดีของทนายตั้มถือเป็นคดีเเรกเท่าที่ตนเคยพบ ซึ่งไม่ค่อยพบว่าที่ผ่านมามีคนเคยถูกเเจ้งข้อหาดังกล่าว การดำเนินคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงเป็นปกติธุระ ถือว่าเป็นก้าวย่าง ที่สำคัญ ของการนำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาผสมผสานกัน กล่าวคือ ข้อหาฉ้อโกง เป็นความผิดที่อยู่ในกฎหมายอาญา โดยมีแต่เฉพาะการฉ้อโกงบุคคลทั่วไปมาตรา 341 กับการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343
โดยคำว่า การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ จะอยู่ในกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งเป็นมาตรการ ในการดำเนินคดี กับผู้โอน รับโอน ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด และการยึดอายัดทรัพย์สิน
ทั้งนี้คำว่าเป็นปกติธุระ อาจมีความหมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วกระทำการ ฉ้อโกง โดยหลอกลวง แล้วเอาไปซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไปจำนวนหลายครั้งหลายคราเป็นอาจิณ
ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นข่าวทางสื่อมวลชน ในประเด็นที่ทนายความ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลซึ่งลูกความให้ความไว้วางใจมอบหมาย ให้ทำหน้าที่ในทางกฎหมาย เกี่ยวกับคดีความของตน แต่ทนายความดังกล่าว กลับกระทำการผิดหน้าที่ หลอกลวง เอาทรัพย์สินของลูกความ ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำการดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ ที่ตนได้รับมอบหมาย และเป็นการกระทำที่ผิดมรรยาททนายอีกด้วย
“การดำเนินคดี กับ ทนายความในข้อหาดังกล่าว จึงถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญ ที่เป็นปรากฏการณ์ทางกฎหมาย ด้วย ในอันที่จะตัดวงจรอาชญากรรม และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมกับสุจริตชนด้วย” และหลังจากนี้ก็จะต้องมีการยึดอายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติการฟอกเงินต่อไปอี