สมชาย แสวงการ อดีต สว. ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์คืนวัดธรรมิการาม แนบบันทึกที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ตกเป็นของวัดธรรมิการามฯ แล้วตั้งแต่ยายเนื่อมตาย มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ฯ ไม่ใช่ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อจากวัด-ผู้จัดการมรดกจัดการนอกเหนือคำสั่งในพินัยกรรมไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาน จากกรณีสำนักข่าวอิศรารายงานไปก่อนหน้านี้ว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้บุคคลไปยื่นจดทะเบียนนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยแจ้งว่าน.ส.แพทองธารลาออกจากกรรมการบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด (เจ้าของ สนามกอล์ฟ อัลไพน์) ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567
โดยบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด จากข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 บริษัทฯนำส่งงบการเงินปีล่าสุด รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 ระบุหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุว่า ที่ดินส่วนใหญ่ของบริษัทพื้นที่ประมาณ 444 ไร่ มีมูลค่าจำนวนเงินรวม 286.29 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้รับการจดทะเบียนการโอนขายที่ดินมรดกจากมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อ่านประกอบ : เช็กสนามกอล์ฟอัลไพน์ ในวัน ‘แพทองธาร’ นายกฯ บ.ยังไม่ได้รับแจ้งปมกรรมสิทธิ์ที่ดิน 444 ไร่
@ เปิดบันทึกที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกาปมมรดกยายเนื่อม
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้โพสต์เฟสบุ๊ก เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 1) เรื่อง พิจารณาแก้ปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์และหมู่บ้านจัดสรรเพื่อโอนคืนวัดธรรมิการามและเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย โดยแนบบันทึกความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง กรณีวัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินมรดกตามพินัยกรรม โดยกรมการศาสนาได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ.0301/178 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎากา ประสงค์ขอหารือ 4 ประการ กรณีนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกที่ดินจำนวนสองแปลง (ที่ดินสนามกอฟล์อัลไพน์ในปัจจุบัน) ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยแต่งตั้งให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้จดการมรดกและโอนที่ดินให้แก่มูลนิธิฯ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนขายให้แก่นิติบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือแล้วสรุปว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น
ประเด็นแรก เมื่อนางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม ที่ดินซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ทั้งสองแปลงจะตกเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันที หรือต้องให้รัฐมนตรีสั่งให้วัดฯได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก่อนจึงจะเป็นที่ธรณีสงฆ์
ประเด็นที่สอง ที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อมฯได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ผู้จัดการมรดกจะนำที่ดินดังกล่าวไปจำหน่าย จ่าย โอน ได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นต่างกันในประเด็นแรก ส่วนประเด็นที่สองเห็นตรงกัน ดังนั้น จึงมีมติให้เสนอเรื่องนี้ทั้งสองประเด็นให้ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 ข้อ 13 (2)
@ ที่ดินตกเป็นของวัดแล้วตั้งแต่ยายเนื่อมตาย
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อนางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม ที่ดินซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ทั้งสองแปลง จะตกเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันทีหรือไม่นั้น เห็นว่า
ตามข้อเท็จจริงนั้นนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ทำพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร โดยระบุในข้อ 1 (3) (ง) และ (จ) ของพินัยกรรมว่า ต้องการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินสองแปลงที่ตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่รวมกันประมาณ 924 ไร่ ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร
ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม วัดฯ ซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่ดินสองแปลงตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ได้ครอบครองหาประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวตลอดมาโดยการให้เช่าทำนา จนกระทั่งได้โอนให้มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิ่งหาคม 2533
กรณีจึงพิจารณาได้ว่า นับตั้งแต่นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม มรดกของนางเนื่อมฯ ตกทอดไปยังทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ‘ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดฯ ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมนับตั้งแต่นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม โดยไม่จำต้องทำการรับมรดกหรือเข้าครอบครองที่พิพาท’ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และวัดฯ ในฐานะผู้รับพินัยกรรมอาจใช้สิทธิเรียกร้องเรียกเอาที่ดินมรดกที่ระบุในพินัยกรรมว่าให้ตกได้แก่วัดฯ ได้นับตั้งแต่นางเนื่อมฯ ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่กรรมเป็นต้นไป ตามมาตรา 1673 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ที่ดินนั้นก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทแล้ว เพียงแต่จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อนึ่ง ตามมาตรา 1599 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ทายาทอาจเสียสิทธิในมรดกได้โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ซึ่งการเสียสิทธิในมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการหนึ่ง คือ การทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกตามมาตรา 1612
‘เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับตั้งแต่เมื่อนางเนื่อมฯ เจ้ามรดกถึงแก่กรรม วัดได้เก็บผลประโยชน์จากที่ดินโดยเก็บค่าเช่าทำนามาโดยตลอด และไม่ปรากฎว่าวัดฯ ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดฯ แล้วตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม’
การที่วัดฯ ได้มาซึ่งที่ดินมรดกสองแปลงนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายที่ดินด้วย ซึ่งมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติให้การได้มาซึ่งที่ดินของวัด ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี แต่ไม่กระทบถึงที่ดินที่วัดได้มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และมาตรา 85 บัญญัติว่า
ในกรณีที่วัดได้ที่ดินมาเกินข้อกำหนดแห่งกฎหมายตามความในมาตรา 84 เมื่อประมวลกฎหมายนี้ได้ใช้บังคับแล้ว ให้นิติบุคคลดังกล่าวจัดการจำหน่ายภายใน 5 ปี โดยนัยนี้เท่ากับว่า ประมวลกฎหมายที่ดินถือว่าที่ดินที่วัดได้มาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้ว แต่หากรัฐมนตรีไม่อนุญาต วัดจะถือกรรมสิทธิ์ต่อไปไม่ได้ และมาตรา 85 กำหนดให้วัดจัดการจำหน่ายเสียภายใน 5 ปี ซึ่งผู้มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นที่จะมีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินได้ ในระหว่างนั้นวัดจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนกว่าจะจำหน่ายที่ดินไป บทบัญญัติมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่เป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินของวัดแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขในการจะถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไปเท่านั้น
‘ดังนั้น ในกรณีของวัดธรรมิการามวรวิหารนี้ วัดฯ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามพินัยกรรรมของนางเนื่อมฯ ทันทีที่นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรม และมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว เมื่อผลทางกฎหมาย ที่ดินมรดกของนางเนื่อมฯ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดฯ แล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 33 (2) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยพระราชบัญญัติตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505’
@ ผู้จัดการมรดกจัดการนอกเหนือคำสั่งในพินัยกรรมไม่ได้
ประเด็นที่สอง ที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อมฯ ได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดฯ ผู้จัดการมรดกจะนำที่ดินดังกล่าวไปจำหน่าย จ่าย โอน ได้หรือไม่ นั้น ปรากฏจากข้อเท็จจริง ว่า หลังจากที่นางเนื่อมฯ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งแต่งตั้งตั้งนายพจน์ สุนทราชุน นายหงษ์ สุวรรณหิรัญ และนายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว เป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2514
แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายพจน์ฯและนายแพทย์วิรัชฯ ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก และนายหงษ์ฯ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2533 เนื่องจากไม่มีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่ ต่อมาศาลแพ่งจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2533 แต่งตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นผู้จัดการมรดก ในวันที่ 21 สิงหาคม 2533 กรมที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้แก่มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งมูลนิธิฯในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินมรดกให้แก่มูลนิธิฯ เอง แล้วมูลนิธิฯ ได้โอนที่ดินดังกล่าวต่อไปให้แก่บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ในวันเดียวกันนั้นเอง กรณีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มาตรา 1719 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกไว้ว่า ให้ทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จึงเห็นได้ว่า เมื่อเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมสั่งความไว้เป็นประการใด ผู้จัดการมรดกย่อมต้องจัดการไปตามคำสั่งนั้น จะจัดการนอกเหนือคำสั่งในพินัยกรรมไม่ได้
‘ในกรณีของที่ดินมรดกสองแปลงของนางเนื่อมฯ ที่เป็นปัญหานี้ นางเนื่อมฯ ได้สั่งไว้ในพินัยกรรมว่า ยกให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมจึงชอบแต่จะจัดการ จำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินมรดกให้แก่วัดฯ ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นที่พินัยกรรมิได้ระบุให้เป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้’
@ มูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อจากวัด
สำหรับข้อ 4 ในพินัยกรรมที่ระบุให้เจ้าอาวาสวัดฯ จัดการมอบอสังหาริมทรัพย์ และจำนวนเงินซึ่งได้แก่วัดฯ รวมทั้งสิ้นแก่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยช่วยจัดทำผลประโยชน์เพื่อใช้บำรุงวัดฯ นั้น ย่อมมีเจตนาเป็นเพียงการมอบหมายให้มูลนิธิฯ ดำเนินการจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินมรดกแทนวัดฯ ไม่ใช่ให้มูลนิธิฯ เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวต่อจากวัดฯ แต่อย่างใด
และหากตีความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการมอบหมายให้วัดฯ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกที่ตกได้แก่วัดฯให้แก่มูลนิธิฯ แล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวก็จะมีลักษณะเป็นเงื่อนไขว่าให้วัดฯ ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายที่ดินที่ได้มาโดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ซึ่งมาตรา 1707 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ข้อความในข้อ 4 ของพินัยกรรมจึงไม่อาจตีความไปในทางโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อไปให้แก่มูลนิธิฯ ได้ ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกที่ตกได้แก่วัดฯ ตามพินัยกรรมให้แก่มูลนิธิฯ ตามความในข้อ 4 ของพินัยกรรม จึงย่อมเป็นอันตกไป
‘ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมฯ จึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุให้ตกแก่วัดฯ ให้แก่วัดฯได้เท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดฯ ไม่ได้ การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้าของมรดก ซึ่งไม่ผูกพันทายาทและจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์’