‘วัชรินทร์’ นำทีมส่งสำนวนคดี 'เป้ รักผู้การ' เรียกเงิน 140 ล. พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 31 ราย เป็น 19 ตร. 12 พลเรือน ให้อัยการคดีปราบทุจริตฯนัดฟังคำสั่ง 26 ก.ย.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์จากเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาท พร้อมคณะทำงานสอบสวนได้นำสำนวน พร้อมเอกสารพยานหลักฐาน 55 แฟ้ม จำนวนเอกสารมากกว่า 20,658 หน้า พร้อมความเห็นทางคดีมาส่งให้ นายสุรพันธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตเพื่อพิจารณาสั่งคดี โดยในวันนี้ ผู้ต้องหาทุกคนเดินทางมาตามนัดส่งตัว
นายวัชรินทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวภายภายหลังรับตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนว่า คดีนี้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งเป็นคดีเเรกประวัติศาสตร์ คดีนี้มีอัยการเข้าไปร่วมในการทําหน้าที่ในการตรวจสอบกํากับการสอบสวน เเละมีตัวแทนของทีมสืบสวนสอบสวนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมา คดีนี้ได้มีการดําเนินคดีกับ พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้การชลบุรีกับพวก ซึ่งมีตํารวจที่เกี่ยวข้องในบางหน่วยก็คือตํารวจ สอท.หรือตำรวจไซเบอร์ เเละมีพลเรือนเข้าไปเกี่ยวข้อง
คดีนี้เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ ผบ.ตร.ในขณะนั้นได้ทําหนังสือแจ้งมาทางอัยการสูงสุดมอบหมายใหตนเข้าไปเป็นหัวหน้าคณะในการตรวจสอบกํากับการสอบสวนแล้วก็ตั้งทีมอัยการเข้าไป 10 คนด้วยกัน ทางผบ.ตร.ก็ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นใหม่มีประมาณทั้งหมดเกือบร้อยคน มีระดับนายพลตํารวจประมาณ 10 กว่าคน มี พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนของตํารวจ ใช้ระยะเวลาสืบสวนสอบสวนคดีนี้ 1 ปีเศษ ในการสรุปสํานวนเนื่องจากคดีเอกสารมีจำนวนมากเเละเราให้โอกาสผู้ต้องหา ร้องขอความเป็นธรรม เรียกว่าอยากให้ทีมเราสอบใครเพิ่มเติมให้สามารถร้องขึ้นมาได้ และผู้ต้องหาก็ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด โดยอ้างพยานหลักฐานซึ่งทางชุดเราก็ได้ไปสอบสวนให้หมด ไม่ว่าจะอ้างพยานหลักฐานจังหวัดใด เราสอบให้หมด จนกระทั่งสรุปสํานวนก็นํามาปรึกษาหารือกับ นายสุรพันธ์ กิจพ่อค้าอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ตามระเบียบการสอบสวนคดี วันนี้ก็เลยได้ข้อสรุปในสำนวน
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 31 ราย มีตัว 30 ราย โดยมีนายพิสิษฐ์หรือต้นฯ หลบหนี 1 ราย เเละสั่งไม่ฟ้อง 3 ราย ในส่วนที่สั่งฟ้องวันนี้เป็นตํารวจ 19 รายพลเรือน 12 ราย ผู้ต้องหาที่หลบหนีเราดำเนินการขอศาลออกหมายจับเเล้ว
ส่วนคนที่สั่งไม่ฟ้อง 3 ราย คือ (พ.ต.อ.ณรงทธิ์ฯ, รต.อ.กฤติภาสฯ, นายนันทวัฒน์ฯ) ซึ่งเราพิจารณาสํานวน โดยรอบคอบเเล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้กระทําความผิดเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง วันนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดมา30 คน ทางอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริตฯนัดฟังคําสั่งวันที่ 26 ก.ย. 2567 เวลา 10.00 น. โดยหากพนักงานอัยการคดีปราบทุจริตฯ สั่งฟ้องก็จะต้องนําตัวไปฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้การชลบุรีกับพวก เป็นผู้ต้องหาที่ 1 โดยข้อหาที่กลุ่มของผู้ต้องหาชุดของผู้การจังหวัดชลบุรีถูกดําเนินคดี ก็คือเรื่องของการจับกุมที่เป็นการจับกุมนายเป้ คือมีการเรียกรับเงินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบกับ พรบ.ปปช. เเละ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 7 ก็คือมีการจับผู้ต้องหาได้ ต้องนําส่งพนักงานสอบสวนในท้องที่ แต่ถ้าไม่ได้นําส่งก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 7 แห่ง พรบ.ฉบับนี้ชุดของทีมตํารวจชลบุรีโดนข้อนี้
ส่วนบอย พัทยา กับต้น พัทยาถูกดําเนินคดีในฐานอื่นด้วยก็คือแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา145 เเละ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ถือว่าพลเรือนเป็นผู้สนับสนุนเเต่ถือว่าเป็นตัวการร่วม
สำหรับผู้ต้องหาอีกชุด เป็นชุดของตํารวจไซเบอร์ เราพิจารณาดูแล้วเป็นความผิดตามมาตรา157 คือการเข้าไปตรวจค้นจับกุมในบ้านของนายเป้ โดยที่ปล่อยให้พลเรือนเข้าไปร่วมในการตรวจค้น เเต่ตํารวจไซเบอร์2 คนที่โดนข้อหาดังกล่าว ไม่ได้ตามไปที่จังหวัดชลบุรีด้วยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียกรับหรือยอมรับจะรับเพราะจึงไม่โดนข้อหาตามมาตรา149 เเละ พรบ.อุ้มหายฯ
นายวัชรินทร์ กล่าวถึงการวิ่งเต้น หรือการขมขู่ในส่วนของการดำเนินคดีที่มีตำรวจเกี่ยวข้อง ว่า ไม่มี ทางตํารวจก็คงเข้าใจว่านี่คือการทํางาน สมมุติว่ามาข่มขู่ชุดเราชุด เเล้วชุดเรากลัวเราถอนตัว ก็ต้องมีชุดใหม่เข้ามาอยู่ดี ส่วนวิ่งเต้นก็คงไม่กล้ามาวิ่งเต้น เพราะว่าที่เขาโดนก็หลายข้อหาแล้วถ้าจะมาวิ่งเต้นอีก ก็จะโดนข้อหาแถม ส่วนเรื่องกลัวตายตนไม่กลัวเพราะว่าคนเราเกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว คดีก่อนหน้านี้เสี่ยงภัยมากกว่านี้ก็ทํามาแล้วใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลงไปทํามา แล้วเรื่องกลัวตายไม่กลัว ในคดีนี้เราไม่มีการกันใครเป็นพยาน เราพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จําเป็นต้องกันเป็นพยานเราก็ดําเนินคดีแจ้งข้อหา
นายวัชรรินทร์ กล่าวถึงการเห็นสมควรไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 คน ว่า เหตุผล คือคนแรกเป็นรองผู้การจังหวัดชลบุรีเขาไม่ได้มาเกี่ยวข้องตอนเรียกรับไม่ได้ไปร่วมจับกุม แต่เเค่ได้รับผิดชอบโดยอดีตผู้การบอกว่าคนนี้จะเป็นคนดูเรื่องสํานวนให้นะ เรียกว่าเขาเข้ามาทําสํานวนเฉยๆไม่เกี่ยวข้องเลย ครับส่วนคนที่สองก็ถูกกล่าวหาเป็นร้อยตํารวจเอกเขาไปตรวจค้นแล้วเขาไม่ได้ไปร่วมไปถึงจุดที่มีการเรียกรับเงิน แล้วคนที่ 3 เป็นการดำเนินคดีผิดตัว เพราะชุดดําเนินคดีชุดแรกแจ้งว่าเป็นนาย นันทวัฒน์ซึ่งอยู่ในจุดที่มีการกักตัวนายเป้ ปรากฏว่าเราตรวจสอบให้ความเป็นธรรมเต็มที่เพราะเขาก็ร้องมาว่าเขาไม่ได้อยู่ที่เกิดเหตุ เขาบอกพิกัดของเขาก็อยู่ที่อื่น เราก็ให้ความเป็นธรรมไม่ได้จับคนที่ไม่มีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน เราสืบจน100% เลยเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง
นายวัชรินทร์ กล่าวถึงกรณีที่นายบอย พัทยากล่าวอ้างว่าโดนนายพลคนดังกลั่นแกล้ง ว่า ไม่มีเรื่องนายพลคนดัง นายพลคนดังกล่าวเป็นใครก็ไม่ทราบ มีแต่เขาร้องขอความเป็นธรรมว่าเขาเขาไม่ได้ร่วมกระทําความผิด ซึ่งถ้าเขาโดนกลั่นเเกล้ง ตนก็ยังบอกเลยว่า ยินดีที่จะเอาพยานหลักฐานว่าใครกลั่นแกล้งอะไรให้เอาเข้ามาสํานวนได้ ตนใช้คําว่าเปิดกล่องตลอดเวลา ให้เอาหลักฐานมาให้เราเลย สอบอะไรได้ก็สอบ ไปสอบให้ถึงจังหวัดชลบุรีตามที่นายบอยพัทยาอ้าง เราไปสอบให้ ทําครบหมดเลย
นายวัชรินทร์ กล่าวกรณีหากศาลยกฟ้องว่า ทำใจได้เพราะอัยการไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเอาคนเข้าคุก อัยการถูกสร้างมาให้ความเป็นธรรมกับคน อัยการไม่ได้เป็นเหมือนอาชีพที่จะต้องไปเข้าข้างผู้ต้องหาหรือว่าเอาเป็นอันตรายไปให้กับผู้หา อัยการจะดูตามพยานหลักฐานว่าถ้าพยานหลักฐานถึงใครอีกเราก็ดําเนินคดี แต่สุดท้ายศาลท่านจะยกฟ้องนั้นเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งเราทําใจได้ถ้าเกิดว่ามีการยกฟ้องขึ้นมาอันนั้นเป็นเรื่องปกติ
นายรชต พนมวัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 ซึ่งได้รับเเต่งตั้งเป็นเจ้าของสำนวน กล่าวว่า อัยการคดีปราบปรามการทุจริต จะทำคดีที่เกี่ยวกับคดีในศาลฎีกานักการเมือง คดีเกี่ยวกับการทุจริตฯ โดยเราจะทำอย่างมืออาชีพเราจะมีกรอบเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน ครั้งแรกจะให้เสร็จภายใน 1 เดือน เท่าที่ดูตนเขื่อมั่นชุดพนักงานสอบสวน เเละสํานักงานการสอบสวนของอัยการ ว่าได้สอบสวนต่อค่อนข้างจะครบถ้วน
นายรชต กล่าวอีกว่า ในส่วนของสำนักงานปราบทุจริตอัยการขออนุญาตพูดแทนท่านอธิบดีฯว่า เราก็ต้องมาพิจารณาเริ่มกันใหม่ ให้ความเป็นธรรม เพราะว่าบางทีผู้ต้องหาหรือผู้กล่าวหาเขาอาจจะมีข้อมูลอะไรที่ยังซ่อนอยู่และถูกพิจารณาครบถ้วนหรือไม่ อันนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดูไม่ต้องห่วงนะครับว่าสํานักงานเราเป็นมืออาชีพเพียงพอนะครับที่จะดําเนินคดีตัวนี้ด้วยความเป็นธรรมทุกอย่างหลังจากวันนี้ไปจะมีการผลคดีเป็นยังไงเราจะมีคําอธิบายทั้งหมด
ส่วนเรื่องขอความเป็นธรรมเราเปิดโอกาสให้ร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบที่รองรับอยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้ เเต่ชุดสอบสวนทำคดีมานานน่าจะมีเข้ามาอยู่ในนี้ครบถ้วนแล้วเราก็จะรับพิจารณาทั้งหมดส่วนจะต้องมีคณะทํางานกี่คนยังตอบไม่ได้ครับขออนุญาตดูสํานวน ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าไปอยู่ในชุด ส่วนเรื่องความหนักใจที่ทำคดีมีตำรวจจำนวนมากเป็นผู้ต้องหา เราไม่หนักใจ สำนักงานเรารับคดีตํารวจเป็นผู้ต้องหาเป็นหลักอยู่แล้วทำมาจำนวนมากเราก็รับทําเต็มที่อยู่แล้วที่ผ่านมาคดีสำคัญอย่างคดี ผกก.โจ้ตนก็ทำมาเเล้ว
ทางด้าน นายวีระ หรือ บอย หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้ เปิดเผยว่า ในคดีของตนมองว่าข้อกฎหมายของประเทศไทยเป็นการกล่าวหาไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อสู้หรือชี้แจงด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งตนส่งเอกสารและพยานหลักฐานไปหมดแล้ว หลังจากนี้ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย พร้อมระบุว่าความจริงก็คือความจริง ส่วนวันนี้ดีใจที่คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยรอดหมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนั้นถูกกลั่นแกล้ง ถูกจับใส่กุญแจมือเข้าห้องขัง ยึดของกลางรวมถึงโทรศัพท์ ถือว่าเป็นวิธีการที่โหดร้าย เพราะพวกเขาไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย และตอนนี้ของกลางก็ยังไม่ได้คืน ซึ่งตำรวจอ้างว่าหายและไม่มีใครติดตามหรือช่วยเหลือคดี
พร้อมยืนยันว่าตนไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เคยแตะตัวนายเป้และไม่เคยกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วยเพราะตนเป็นสายลับคอยให้ข้อมูลกับตำรวจว่าใครทำเว็บพนันบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ให้กับตำรวจตนไม่รู้รายละเอียดเชิงลึก แต่มีการพูดต่อ ๆ กันมา ส่วนตำรวจจะไปสืบสวนวิธีการแบบใดนั้นตนไม่ทราบ แต่ยอมรับว่ามีการไปชี้เป้าที่บ้านจริง แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมจับกุมด้วย ส่วนข้อกล่าวหาที่บอกว่าตนไปล็อบบี้คดี ปฏิเสธว่าไม่มี
ส่วนความสนิทสนมของตนกับนายตำรวจชั้นผูัใหญ่ ยอมรับว่าเคยดูแลนายพลระดับสูงที่เป็นคนดำเนินคดีกับตนเอง เนื่องจากตนทำธุรกิจท่องเที่ยวจึงมีการอำนวยความสะดวกให้นายพลระดับสูงและพรรคพวก ระหว่างท่องเที่ยว แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ลูกน้องใคร และไม่เคยทำหน้าที่พ่อบ้านรับเคลียร์หรือเคลียร์หน้าเสื่อให้กับใคร