อดีรมว.คลังยุค ‘สุรยุทธ์’ -ประธาน TDRI ‘ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์’ เสียชีวิตแล้ว รวมอายุได้ 74 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 สิงหาคม 2567 รายงานข่าวระบุว่า นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธานสถาบันวิจับเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2567 รวมอายุได้ 74 ปี และจะมีการบำเพ็ญกุศลที่วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2567
ประวัติเบื้องต้น นายฉลองภพ เกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2493 จบการศึกษาปริญญาตรีถึงปริญญาเอกด้านเศรษฐษศตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และหลังจบการศึกษาได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ สหรัฐ ระหว่างปี 2520-2522 หลังจากนั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน 6 ปี ก่อนกลับมาทำงานที่ TDRI ในปี 2528
นายฉลองภพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน TDRI เมื่อปี 2539 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อ เดือน มี.ค. 2550 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และเมื่อพ้นตำแหน่งในปี 2551
ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somchai Jitsuchon’ ระลึกถึงนายฉลองภพความว่า ผมทำงานภายใต้ อ. ฉลองภพตั้งแต่ day 1 ที่มาทำ TDRI ยังมีภาพจำติดหัวมาถึงทุกวันนี้ว่า 'คนอะไรทำไมฉลาดจัง'
ตอน อ. อธิบายการทำตารางบัญชีเมตริกซ์สังคม (social accounting matrix, SAM, เอาไปสร้างเป็น CGE ต่อ) เหมือน อ. มีตัวเลข national income ทุกตัวอยู่ในหัว ยังนึกไม่ออกว่า อ. ทำได้ยังไง
อีกความทรงจำคือตอนร่วมกันทำ year-end paper พวกลูกทีมอย่างผมก็จะคอย support ข้อมูลให้ อ. เป็นระยะในช่วง 1-2 อาทิตย์ก่อนวันงาน แล้วพอถึง 2-3 วันก่อนวันงาน อ. ก็จะนั่งพิมพ์รายงานรวดเดียว บ่อยครั้งพิมพ์ทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าตี 4 ตี 5 (มักจะวันเกือบสุดท้าย) พวกผมก็นั่งฟังเสียงเคาะแป้นพิมพ์อยู่นอกห้อง อ. ที่ตึกรัชภาคต์ ที่ดังต่อเนื่องตลอดเวลา ลุ้นว่าเมื่อไรเสียงเคาะจะหยุด (แสดงว่ารายงานเขียนเสร็จ) และพอ อ. เดินออกจากห้องแล้วส่งไฟล์ให้พวกเราเอาไปจัดพิมพ์ อ. ก็จะเดินกลับบ้าน (ตัวตรงดิ๊กแบบสไตล์แก) แล้วหันมาบอกว่า 'ขอบคุณนะ' ซึ่งพวกเราคุยกันว่าในหนึ่งปีจะได้ยิน อ. พูดก็ครั้งนั้น เพราะแกไม่ชอบพูดมาก
อ. ฉลองภพพูดน้อยโดยปกติ มักพูดไม่กี่ประโยคก็เดินจากไป ทำให้เมื่อครั้งที่ อ. เกลี้ยกล่อมให้ผมยอมรับทุน TDRI ไปเรียนต่อเอก (ซึ่งตอนแรกผมไม่อยากรับ เพราะไม่ชอบไอเดียว่าต้องมี phd ถึงจะประสบความสำเร็จได้) ซึ่ง อ. พูดกับผมเกือบ 2 ชม. เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมยอมไปเพราะเห็นความตั้งใจดีของท่าน
เมื่อครั้ง อ. ให้ผมเดินทางไป norway ด้วยเพื่อร่วมนำเสนองานวิชาการทั้งที่ผมยัง junior มาก (เป็น trip ตปท. แรกของผม) จำได้ว่าหนาวมากกกกก หนาวจนหูกับจมูกแทบหลุด อ. ยังมาแซวผมภายหลังบ่อย ๆ ว่าเห็นผมยืนตัวสั่นงันงก น่าสงสาร...
จำได้อีกเรื่องคือ พอผมทำงานกับ อ. ฉลองภพได้สักพัก คนใน tdri ยุคนั้นก็เริ่มเรียกผมว่า 'ฉลองภพน้อย' ทำเอาปลึ้มเล็ก ๆ ไปเลย
ด้วย profile อ. ที่เลิศมาก ทำให้ตอนกลับมาทำงานในไทยใหม่ ๆ คนในวงการจะจับตามอง อ. มาก ทั้งที่สภาพัฒน์ ธปท. ฯลฯ จำได้ว่า อ. ไปประชุมที่ ธปท. ช่วงนั้น ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. จะเดินมาคุยกับ อ. เป็นระยะ
อ. เป็นอีกหนึ่ง 'ขุนพล' ทีทำให้ TDRI เป็นที่รู้จักและนับถือในแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ (โดยเฉพาะ ตปท. ช่วงนั้นรู้จักแต่ tdri เลย) ควบคู่กับ อ. อัมมาร อ. วีระพงษ์ อ. อาณัติ
ยังมีเรื่องให้ระลึกถึงอีกมากครับ
ขอให้ อ. เดินทางไกลไปสู่อีกภพภูมิที่ดีกว่า และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว อ. เป็นอย่างยิ่งครับ
ที่มาภาพปก: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)