สภาผู้บริโภคจัดเวทีหาแนวทางช่วยผู้ใช้งานรถยนต์ใช้แล้ว แนะคปภ.ต้องเปิดประวัติรถมือสอง กำหนดมาตรการคุ้มครอง แก้ไขปัญหาเหตุปลอมเลขไมล์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) วันที่ 21 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภคจัดเวทีความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและยกมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้ว เพื่อสะท้อนปัญหา และเสนอแนะมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ใช้แล้วหรือรถมือสอง โดยปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญ มีทั้งเรื่องสัญญา การโฆษณา แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่ใช่ปัญหาที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนเป็นอันดับต้น ๆ แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทยก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 กรุงเทพฯ จะมีรถโดยสารประจำทางหยุดให้บริการเดินรถหลายสาย ตามแผนปฏิบัติรูปรถโดยสารประจำทาง ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ขณะที่รถไฟฟ้ามีราคาค่าโดยสารที่แพง การไม่มีระบบฟีดเดอร์ หรือบริการระบบขนส่งเสริม รองรับ
“พื้นที่ต่างจังหวัดยิ่งแย่ไปใหญ่ แทบไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ นี่คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องมีรถยนต์ส่วนตัวไม่ว่า จะเป็นรถมือหนึ่งหรือรถยนต์มือสอง ฉะนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วเกิดขึ้น”
ด้านนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว ที่ผ่านมาพบปัญหาการให้ข้อมูลไม่โปร่งใส ไม่ครบถ้วน การปลอมแปลงเลขไมล์ การหลอกขายซื้อรถยนต์ที่เคยประสบอุบัติเหตุมาแล้ว ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภค รวมไปถึงการไม่สุจริตในการประเมินราคา ขาดมาตรฐานกลางในการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ใช้แล้ว ปัญหาทางเอกสารที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ เป็นต้น
“เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ได้ยื่นประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) โดยหากกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้รถยนต์ป้ายแดงก็จะได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ตามกฎหมายเลมอน ลอว์ ไม่ได้คุ้มครองถึงรถยนต์ใช้แล้ว ที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเจอปัญหา ก็ยอมจำนน ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และเมื่อผู้บริโภคไปเรียกร้องสิทธิ เช่น เรียกร้องผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็จะถูกบริษัทฟ้องปิดปาก”
นายพัสกร ทัพมงคง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่าถึงปัญหารถยนต์ใช้แล้วว่า เป็นหนึ่งในสินค้าที่ สคบ.กำลังติดตามและดำเนินการ ทั้งนี้สินค้าประเภทรถยนต์มีกรมการขนส่งทางบกดูแลเป็นหลัก ส่วนสคบ.มีหน้าที่ใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาอุดช่องโหว่และช่วยเหลือผู้บริโภตเมื่อเกิดปัญหา
“สคบ.กำลังแก้ไขประกาศฯ ให้สินค้ารถยนต์ใช้แล้ว เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีข้อความที่ตรงกับความเป็นจริง และเพียงพอให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย สคบ.กำลังทบทวน สินค้าควบคุมฉลากทั้งรถยนต์มือหนึ่งและมือสอง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานยนต์มือสองด้วย” นายพัสกร กล่าวและว่า ในส่วนเรื่องสัญญา มีประกาศบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหลักฐานการรับเงิน การทำสัญญาซื้อขาย ส่วนการโฆษณาเลขไมล์เป็นเท็จนั้น มีบทโทษตามกฎหมาย
สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายเลมอน ลอว์ นายพัสกร กล่าวว่า เดิมกรณีการซื้อรถยนต์จะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง แต่พบปัญหาเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุเพียงว่าผู้ขายตองรับผิด แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องรับผิดอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เลมอน ลอว์จึงเกิดขึ้นมา แต่ปัจจุบันยังมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่ต้องปรับปรุง เช่น นิยามผู้ซื้อผู้ขาย หรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย โดยใช้กฎหมายเดียวอาจจะไม่เป็นธรรม เป็นต้น
“สินค้ารถยนต์มือสองไม่ได้อยู่ภายใต้เลมอนลอว์ เพราะมุ่งเน้นที่สินค้าใหม่เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ แต่การรับประกันหลังซื้อรถยนต์มือสอง อาจจะเข้าข่ายหรือไม่ ก็ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มาตรการในการแก้ปัญหารถมือสองจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมพูดคุย และหาทางออกร่วมกัน”
ด้าน นายวรวุฒิ ยางสกุล ตัวแทนจากกรมขนส่งทางบก กล่าวถึงสถานตรวจภาพรถเอกชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ กรมฯ กำลังหารือ หากผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจซื้อรถยนต์มือสอง มีความสงสัยสภาพของรถยนต์ เคยประสบอุบัติเหตุหนัก ผ่านการซ่อม แล้วนำมาขายหรือไม่ ที่ผ่านมากรมฯ ตรวจพบว่า มีกรณีซื้อซากรถไป แล้วนำเลขทะเบียนจากรถหนีไฟแนนซ์ มาดัดแปลง สวมรอย ฉะนั้น กรมการขนส่งทางบกกำลังแก้ไขและออกระเบียบใหม่ หากเป็นซากรถ จะไม่รับจดทะเบียน
“กรมฯ เชื่อว่า บริษัทประกันรู้ดีที่สุด จึงขอความร่วมมือกัน หากบริษัทประกัน เห็นว่า รถคันนั้นไม่สามารถซ่อมได้แล้ว ตีเป็นซากรถ ประเมินแล้วซ่อมไม่ได้ ขอให้แจ้งกรมฯ เลิกใช้รถที่จดทะเบียนคนนั้น และต้องไม่ขายเล่มทะเบียน ให้ขายแต่ซากรถเท่านั้น ประเด็นนี้เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง”
นอกจากนี้ ในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ โดยตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สนับสนุนข้อเสนอการแจ้งกรณีรถยนต์เสียหาย ถูกชนหนักจนไม่สามารถใช้งานได้ โดยขอให้บริษัทประกันภัยแจ้ง คปภ. ขณะที่ตัวแทนธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นสนับสนุนกรมการขนส่งทางบก ขอให้แก้ที่ต้นตอ ให้แจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันสวมสิทธิทะเบียนรถยนต์ โดยเฉพาะขั้นตอนของการจดทะเบียนหรือการออกเล่มทะเบียนใหม่นั้น กรมการขนส่งทางบกควรมีการระบุรายละเอียดให้ครบถ้วนด้วย
ส่วนเรื่องการแบ่งปันข้อมูลระหว่างบริษัทประกันด้วยกันเองนั้น ตัวแทนสมาคมประกันวินาศภัย สะท้อนปัญหาหลังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 หรือกฎหมาย PDPA ทำให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้ โดยเฉพาะ ประวัติการเคลมของรถของแต่ละบริษัท ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาของธุรกิจประกันภัย คือการให้ผู้ประกันภัยเอาข้อมูลมาให้บริษัทประกันภัยด้วยตัวเองเท่านั้น พร้อมให้มุมมองคนประกันภัย ที่ไม่ได้มองซากรถ ซ่อมไม่ได้มุมเดียวเท่านั้น
ขณะที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถมือสอง ระบุถึงปัญหาโกงเลขไมล์ กรอไมล์ อยากให้ผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายต้องทำงานเชิงรุก นำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบ ปัญหาการโกงเลขไมล์ช่วยผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง ซึ่งในเวทีผู้เข้าร่วมเสวนายังขอให้กรมการขนส่งทางบก เพิ่มหมวดการเก็บระยะเลขไมล์ ในทะเบียนเล่มเมื่อจะมีการต่อภาษี หรือตรวจสภาพรถยนต์ โดยคาดหวังว่าจะป้องกันการทุจริตเรื่องปัญหาการปรับลดเลขไมล์เพื่อให้รถดูมีการใช้งานน้อยกว่าความเป็นจริง