ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์โพกรวม สิงห์บุรี ชี้ใบอนุญาตขยายโรงงานกระดาษเพื่อผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ใช้เอง เป็นเพียงส่วนขยายโรงงานเดิม ไม่ได้ขายไฟจึงไม่ใช่โรงไฟฟ้า-ไม่ขัดผังเมือง-ไม่เข้าเกณฑ์ต้องทำ EIA
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่กลุ่มคนรักษ์โพกรวมและประชาชนในพื้นที่ตำบลโพกรวมและตำบลใกล้เคียงในอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี 73 คน ยื่นฟ้องรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสิงห์บุรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม เมื่อปี 2562 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตขยายโรงงานเพื่อเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตกระดาษ บริษัท ซี.เอ.เอส.เปเปอร์ มิลล์ จำกัด โดยชุมชนเห็นว่าเป็นการอนุญาตให้สร้าง 'โรงไฟฟ้าถ่านหิน' ที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่เกษตรกรรมใกล้ชุมชน ขัดต่อข้อห้ามตามผังเมืองรวมจังหวัดสิงห์บุรี และเข้าข่ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการอนุญาต
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผังเมืองรวมจังหวัดสิงห์บุรีจะมีข้อกำหนดห้ามประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 88 (โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า) ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม แต่โครงการของบริษัทฯ ในส่วนที่ได้รับใบอนุญาตขยายโรงงาน (ครั้งที่ 3) ไม่ใช่การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 88 (โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า)
เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้า แต่เป็นการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานผลิตกระดาษตามประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตมาแต่เดิม คือโรงงานลำดับที่ 38 (2) ซึ่งไม่ใช่กิจการต้องห้ามตามผังเมืองรวม การออกใบอนุญาตขยายโรงงานจึงไม่ขัดต่อผังเมืองรวมจังหวัดสิงห์บุรี และการผลิตไฟฟ้าตามที่ขออนุญาตมีกำลังการผลิตสูงสุด 9.9 เมกะวัตต์ ไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ก่อนการอนุญาต เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนการอนุมัติอนุญาตได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนแล้ว การออกใบอนุญาตขยายโรงงาน รวมถึงใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกให้แก่บริษัทฯ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง
นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทีมกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ที่ให้ความช่วยเหลือชุมชนในการฟ้องคดีนี้ แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาว่า แม้จะทราบดีว่าผลคดีอาจออกมาในแนวทางนี้ด้วยข้อจำกัดของตัวบทกฎหมายที่ยังมีช่องว่าง แต่ก็ยังคงคาดหวังและเชื่อมั่นเสมอมาว่า ศาลปกครองจะได้ทำหน้าที่ในการวางบรรทัดฐานพิจารณาตีความอุดช่องว่างของกฎหมาย โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนยิ่งกว่าการพิจารณาตามตัวอักษร ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลยังไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ทำให้ชุมชนต้องกลับบ้านไปแบบคับข้องค้างคาใจว่า ในเมื่อผลกระทบไม่ได้แตกต่างกันเลยไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพื่อขายหรือใช้เองในโรงงาน แต่เหตุใดกฎหมายจึงมองไม่เห็นและไม่คุ้มครองชีวิตพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้มีการปรึกษากันแล้วว่าชุมชนจะเดินหน้าใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดได้ทบทวนและสร้างบรรทัดฐานคืนความยุติธรรมให้แก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทางด้านชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์โพกรวมทั้งหมดที่มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกผิดหวัง เสียความรู้สึก เพราะศาลไม่ได้พูดถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมของชุมชนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร
โดยชาวบ้านมองว่าสิ่งนี้คือความสำคัญหลักที่ศาลต้องคำนึงและพิจารณา แต่ศาลกลับพิจารณาเพียงว่าการดำเนินกิจการของโรงงานถูกต้องตามกระบวนการและข้อกฎหมายแล้ว มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คำพิพากษาดังกล่าวของศาลที่ยกฟ้อง จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก
นายบุญยืน นันทรักษ์ หนึ่งในชาวบ้านผู้ฟ้องคดีกล่าวถึงความรู้สึกหลังได้ฟังคำพิพากษาว่า "รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะบ้านอยู่ใกล้กับโรงงานได้รับผลกระทบโดยตรง พาหลานมาด้วยทุกครั้งตั้งแต่เด็กจนตอนนี้หลานโตแล้ว ศาลพึ่งจะมีคำพิพากษาเวลายาวนานมาก ตอนนี้แม่ก็ยังได้รับผลกระทบจากโรงงานอยู่"
เช่นเดียวกับ นางนันทพรรษ เกิดเรือง หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษารู้สึกเสียใจน้อยใจ ศาลไม่พูดถึงชีวิตพวกเราหรือพูดถึงสิ่งแวดล้อมเลย ศาลไม่ได้ไปใช้ชีวิตที่นั่นกับพวกเราเลยไม่รู้ว่าผลกระทบที่พวกเราได้รับเป็นยังไงบ้าง อยากให้ศาลเมตตาพวกเราด้วยเพราะพวกเราได้รับผลกระทบจริงๆ พวกเรามาด้วยใจไม่มีเงินพวกเราก็เปิดหมวกกันเพื่อจะได้นำเงินเดินทางจากสิงห์บุรีฟังคำพิพากษาที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีโรงงานน้ำในลำคลองใสมาก จับปลาได้เยอะแยะมากมาย ปลูกข้าวก็สวยงาม แต่หลังจากที่มีโรงงาน เคยมีน้ำเสียจากโรงงานรั่วออกมาในลำคลองทำให้น้ำเน่าเสีย มีผลกระทบต่อน้ำใช้ สัตว์ในลำคลอง รวมถึงมีกลิ่นเหม็นมาเป็นระยะตามทิศทางลม