เวทีเสวนา 27 ปี สภาการสื่อฯ เผยสื่อนำเสนอข่าวมีผลพัฒนาภาคใต้ รองประธานสภาสังคมฯ เผยบทบาททางบวกสื่อช่วยสังคมได้แม้มีเหตุความรุนแรง ชี้ชัดมีสื่อบางเจ้าบิดเบือนว่าพูดคุยเท่ากับแบ่งแยก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2567 สภาการสื่อมวลชน นสพ.แห่งชาติ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส และเวบ/เพจ สงขลาโฟกัส จัดงาน 27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ Media & Businesses Adaptation in the Age of Al การปรับตัวของสื่อและธุรกิจในยุค AI ณ Event Hall ชั้น B ห้างสรรพสินค้าไดอานา หาดใหญ่ จ.สงขลา
บนเวทีเสวนาวันที่ 10 สิงหาคม ภายใต้ชื่อ “บทบาทสื่อมวลชนกับการพัฒนาภาคใต้ ” มีวิทยากรได้แก่ นายมาหะมะพิสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา, นายสนธยา แก้วขำ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ภาคใต้ และนางโซรยา จามจุรี รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ดำเนินการเสวนาโดย นางยินดี ตรีรัญเพชร นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สถานวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา
นายมาหะมะพิสกรี กล่าวว่า สื่อคือผู้ส่งสาร และมีผู้รับสาร ปัจจุบัน การสื่อสารพัฒนา ผู้รับสารกลายเป็นผู้ส่งสาร สื่อมีหลายประเภท มีผู้สื่อข่าว สื่อข้อเท็จจริงไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้สื่อ หรือเข้าข้างฝ่ายใด ในรูปแบบบทความ สกู๊ป สารคดี ใส่ความคิดความรู้สึกได้ มีผลในการชักจูงใจ
“สื่อโซเชียล มีอิทธิพลต่อผู้รับ แต่ควบคุมไม่ได้ ผู้รับก็สามารถเป็นผู้สื่อได้ ซึ่งในการรับสื่อประเภทนี้ต้องระมัดระวังให้มากในการหลงเชื่อ”
ข่าวที่ได้รับความสนใจของสื่อกระแสหลักมักเป็นข่าวที่ต้องขายได้ ข่าวความรุนแรง สื่อบางสื่อไม่มีจรรยาบรรณ การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเพื่อขายข่าว ในพื้นที่ชายแดนใต้ เรื่องเสรีภาพทางความคิด การแสดงออกทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ดีไม่ควรปิดกั้น
พรก.ฉุกเฉิน ใช้มา 20 ปีในจชต.ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี ควรให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องจชต. เพราะแม้สื่อก็ผลักดันไม่ไหว หากความเป็นจริงไม่มีความสงบ หรือหากความไว้วางใจกันไม่เกิดขึ้น แต่ละฝ่ายต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้แล้วค่อยมีการพัฒนา ส่วนในจังหวัดสงขลาสื่อมีอิทธิพลมากในการท่องเที่ยว
“การสื่อสารปัจจุบัน มีทั้งสื่อที่เป็นวิชาชีพ สื่อที่เป็นกลุ่มทุน สื่อเลือกข้างทางการเมือง แต่สื่อโซเชียลอันตรายมาก ต้องระมัดระวังมาก เราต้องใช้วิจารณญานในการบริโภคสื่อ ต้องมีสติกับเหตุการณ์ที่สื่อออกมา มีสติในการใช้โซเชียล” รองผู้ว่าฯสงขลา กล่าว
ดร.สิทธิพงษ์ กล่าวว่า ในมุมธุรกิจสื่อสำคัญมากในการพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิชาชีพ ยกตัวอย่าง หลายนโยบายที่เราผลักดัน หากถูกขับเคลื่อนโดยสื่อ มักได้รับการตอบรับจากจังหวัด หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
“ยกตัวอย่าง ผมเขียนโครงการ “ด่านนอก แซนด์บ๊อกซ์” รับนักท่องเที่ยว เมื่อสื่อท้องถิ่นและสื่อส่วนกลางนำเสนอออกไป ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก และเกิดความสำเร็จ” ดร.สิทธิพงษ์ กล่าว และว่า
ฝากสื่อพัฒนาภาคใต้ สื่อมีผลมากที่สุดช่วยผลักดันสิ่งเหล่านี้ หากไม่มีสื่อการพัฒนาย่อมไม่สามารถทำได้ ฝากภาครัฐ ดูแลสื่อโซเชียล เฟคนิวส์ต่างๆ รัฐต้องปรับตัวให้ทัน ฝากผู้รับสื่อสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง ตั้งคำถามกับสารที่ได้รับและต้องค้นหาข้อมูลจากหลายๆ ทาง ก่อนที่จะเชื่อหรือส่งต่อ
นางโซรยา กล่าวว่า เราทุกคนอาจเป็นสื่อโดยใช้สื่อโซเชียลได้ แต่ผลตอบรับอาจไม่มากเท่าสื่อกระแสหลัก เราทำเรื่อง “สันติภาพที่กินได้” แก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 แต่ในความขัดแย้งก็เกิดบางสิ่งที่เป็นในทางบวกอยู่เหมือนกัน ซึ่งสื่อก็ช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโซเชียล แต่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข่าวสารเชิงบวกเท่าที่ควร
เราจัดกิจกรรมรวมตัวแม่ๆ คุยกันเรื่องยาเสพติดระบาดในครอบครัว เล็กๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชน แก้ปัญหา สื่อก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เราไม่ปฏิเสธเหตุการณ์ แต่ควรต้องทำคู่ขนานกัน เช่น การท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเยอะมาก แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ เขามาทานอาหาร แม้ว่าเมื่อวานมีระเบิดลงที่ปัตตานี แต่นักท่องเที่ยวก็ยังเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ครอบคลุมจำเป็นต้องมี ต้องให้เห็นมุมแบบนี้ด้วย สื่อควรต้องค้นหาข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าวอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่บางเหตุการณ์ก็ยังสามารทำได้ เช่น การเกาะติดเหตุการณ์ อย่างกรณีมูโนะ นราธิวาส
“การพูดคุยสันติภาพ การลดความรุนแรง รับฟังความคิดเห็น และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง แต่สื่อบางสำนักนำเสนอว่าเป็นการแบ่งแยก ซึ่งไม่เป็นความจริง ในมุมภาคประชาสังคมเห็นว่าการพูดคุยเป็นเรื่องที่ดี หากทำอย่างรอบด้าน” นางโซรยา กล่าว และว่า
สื่อโซเชียลดีตรงที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้ เห็นจุดดี มีรายการดีๆ ที่เราสามารถหาความรู้ได้ เช่น ยูทูบ ฯลฯ งานพัฒนาสันติภาพในพื้นที่มีอยู่มาก สามารถเป็นข่าวได้ อยากให้สื่อหลักให้ความสำคัญกับมุมนี้ด้วย
นายสนธยา กล่าวว่า สังคมใดสื่อไม่มีประสิทธิภาพการพัฒนาก็ขาดประสิทธิภาพ สื่อย่อมมีอิทธิพลต่อสังคมเสมอ เช่น ไทยพีบีเอส เมื่อไปหยิบสิ่งเรื่องใดที่ไม่ได้รับความสนใจก็จะมีคนที่สนใจนำไปขยายผล
ผู้รับสารมักเป็นผู้อยู่หลังสุดในทฤษฎีการสื่อสาร เราขับเคลื่อนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราควบคุมคนรับสารไม่ได้ แต่เราสื่อสารเพื่อยกระดับเขาได้ เพื่อสังคมน่าอยู่มากขึ้น เราต้องพัฒนาตัวเองในความเป็นสื่อ ต้องทำให้ครบทุกมุม ทั้งคู่ขัดแย้งและฝ่ายที่คิดต่าง ประชาชน นักวิชาการ มีส่วนในการช่วยกันได้ ถ้าจชต.ไม่มีสื่อเหตุการณ์น่าจะเลวร้ายมากกว่านี้
การศึกษา หากมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสม เยาวชนก็มีวิจารณญานในการรับสื่อ สื่อใดที่ไม่ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณก็จะถูกตั้งคำถามถึงความเป็นสื่อมืออาชีพ
“ไม่กี่วันก่อน มีการค้นพบว่า สองร้อยล้านปีที่แล้ว พัทลุง และบริเวณใกล้เคียง เช่น สงขลา เคยอยู่ใต้ทะเล มีซากดึกดำบรรพ์มากมาย เช่น ซากไดโนเสาร์ มุมมองสื่อสามารถนำเสนอเรื่องแบบนี้ได้ และได้รับความสนใจจากผู้ติดตามมาก สร้างความรู้สึกดีให้กับผู้รับสารได้ สังคมใดสื่อทำหน้าที่ได้ดี เท่ากับประเทศนั้นยังดีอยู่ และสามารถพัฒนาต่อไปได้” นายสนธยา กล่าว