ซีพีเอฟ เข้าชี้แจงก กมธ.ยืนยันไม่ใช่สาเหตุของปัญหา เผยเหตุไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เกรงมีผลทางกฎหมาย ย้ำพร้อมร่วมมือภาครัฐขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารฯ ซีพีเอฟ เข้าชี้แจงในประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เองพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
ภายหลังการประชุม นายประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าชี้แจงในวันนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อมูลตามที่เคยแจ้งไว้ ส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ก็คงเป็นไปตาม 5 โครงการที่ทำอยู่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หลักๆที่มาชี้แจงวันนี้ก็เป็นเรื่อง 5 โครงการนี้เป็นหลัก ตนขอเรียนเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกสองสถาบันที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม เราก็ได้เรียนกับคณะกรรมาธิการ ว่าจะมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เราก็คิดว่าควรมีส่วนช่วยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามแต่ จะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่เกี่ยวข้อง เหมือนกับช่วงโควิด เราก็ถือเป็นบริษัทหนึ่ง ก็เข้าไปช่วยส่งอาหารไปตามที่ต่างๆ จำนวนหลายล้านกล่อง คงเป็นลักษณะคล้ายคลึงกัน
“เราคงตั้งเป้าหมายว่า จะดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และคงสนับสนุนปลาอีก 2 แสนตัว ในการช่วยกำจัดให้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องอื่นจะเป็นเรื่องงานวิจัย ก็ต้องดูว่าผลการวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน“ นายประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ นายประสิทธิ์กล่าวว่าเป็นไปตามที่แจ้ง อาจจะพูดมากไม่ได้ เพราะอาจจะมีการที่บางท่านเอาภาพที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ แต่ยืนยันว่าได้ส่งให้กับทางกรมประมง
”สิ่งที่เราชี้แจงไปเพียงพอแล้ว ส่วนที่คนสงสัยเรื่องภาพ ตามกระบวนการนั้นเราก็ให้คนติดต่อ นำไปให้ตามจำนวนปลาที่ตกลงกัน ยืนยันว่าเรามีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน ส่วนเรื่องที่มีการส่งออกตั้ง 3 แสนกว่าตัว ห่างกัน 150 เท่า ผมคิดว่าน่าจะไปพิจารณาว่าการแพร่กระจาย มันเกิดจากอะไรกันแน่ ยืนยันว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจากซีพีเอฟ ส่วนเกิดจากอะไรนั้นก็คงต้องให้คณะกรรมาธิการ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องติดตาม ฝากนักข่าวไปลองพิจารณาเพิ่มเติม ว่า 2,000 ตัว กับ 3 แสนกว่าตัว ที่ส่งออก ไม่ใช่นำเข้า มันมาจากไหน เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้” นายประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าน่าจะมีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้ว มีหลักฐานอยู่แล้วว่ามีจำนวนการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัทไป 17 ประเทศ ประเด็นนี้เราเห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่างๆที่มีคนไปสืบค้นเพิ่มเติม
เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าซีพีเอฟไม่เกี่ยวข้อง นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในฟาร์มที่เป็นระบบ มีมาตรฐานสูง เรายืนยัน ไปกับทางกรมประมงแล้ว ปลาที่มาอยู่กับเราเป็นลูกปลาซะด้วยซ้ำ ถ้าท่านที่เคยเลี้ยงปลาดี จะทราบว่าปลาที่เอามา 2,000 ตัว แล้วมาถึงที่สนามบิน เหลืออยู่ 600 สภาพไม่แข็งแรง ซึ่งแสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือคือไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ของกรมกรมประมง มาตรวจเช็คที่สนามบิน พร้อมย้ำว่าเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามว่าจำนวนปลาที่ตายทำไมถึงเป็นตัวเลขกลมๆ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการประมาณการ ซึ่งตอนนั้นนำเข้ามาวิจัยและพัฒนา โดยมีแนวคิดตั้งต้นมาจากการประชุม พัฒนาสายพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่แนวคิดในการทดลอง ซึ่งกระบวนการก็ยุ่งยากมาก กว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย แล้วเอาเข้ามาปลาไม่สมบูรณ์ เราก็ปิดโครงการ
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากซีพีเอฟ ระบุว่า บริษัทได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามคำเชิญเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นการดำเนินการของบริษัท โดยยืนยันว่าเป็นผู้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำ โดยบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 รวมถึงไม่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆทั้งสิ้น
สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม
สำหรับกรณีไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีความตั้งใจและยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล เช่น การจับปลาเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำจากแหล่งแพร่ระบาด การปล่อยปลาผู้ล่าหลังปลาหมอคางดำลด การใช้ประโยชน์จากปลาไม่ให้สูญเปล่า ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ให้ความรู้ประชาชนและรู้จักวิธีกป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่างถิ่น เป็นต้น
ปัจจุบัน ซีพีเอฟดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.) โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม 2.) โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด 3.) โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่ 4.) โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และ 5.) โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย