ตำรวจรวบอัยการปลอมขณะบรรยายกฎหมายในโรงเรียนย่านนนทบุรี เผยพฤติการณ์โพสต์ภาพใส่ชุดอัยการหลายครั้ง เอาภาพลงเฟซบุ๊กส่อทำสำนัก อสส.เสื่อมเสีย สืบพบข้อเท็จจริงเจ้าตัวเคยเป็นแค่ที่ปรึกษาส่วนตัว อัยการสำนักสอบสวนช่วงปี 65
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่โรงเรียนมัธยมเเห่งหนึ่งย่านนนทบุรี พนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชันเเละกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกันจับกุม นายมงคล ปรีสุขเกษม ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญาตลิ่งชันในความผิดฐาน กระทำความผิดฐานกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรคหนึ่ง
กรณี นายมงคลมีพฤติการณ์โพสต์ภาพตนเองขณะแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการฝ่ายอัยการประดับเครื่องหมายคล้ายเครื่องหมายของสำนักงานอัยการสูงสุดในลักษณะเผยแพร่โดยสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเข้าใจได้ว่านายมงคล เป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยมีลักษณะการกระทำเเอบอ้างในลักษณะดังกล่าวหลายครั้ง
สำหรับคดีนี้เดิมทางสำนักงานอัยการสูงสุดโดยคณะกรรมการอัยการได้รับการร้องเรียนให้ชี้แจงกรณีที่มีสอบถามเกี่ยวกับสถานะของนายมงคล ปรีสุขเกษม ซึ่งได้แสดงตนในสถานที่หลายแห่งว่าเป็นที่ปรึกษาอธิบดีอัยการสำนักงาน การสอบสวน ซึ่งพบหลักฐานในสื่อสังคมออนไลน์ บัญชีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ชื่อ Mongkol Preesukkasem ทางอัยการสำนักงานการสอบสวนได้ตรวจสอบพบว่าเมื่อช่วงปี พ.ศ.2565 นายมงคล ปรีสุขเกษม เป็นที่ปรึกษาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนในลักษณะที่ปรึกษาส่วนตัว โดยไม่ได้จัดพื้นที่หรือห้องให้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้ความชัดเจนอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จึงได้มอบหมายคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของนายมงคลว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายในทางที่ให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานการสอบสวน และสำนักงานอัยการสูงสุดและให้รายงานการตรวจสอบพร้อมความเห็นประกอบการพิจารณาเพื่อรายงานอัยการสูงสุดต่อไป
เมื่อคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของนายมงคลพบว่า การกระทำของนายมงคล ที่โพสต์ภาพตนเองขณะแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยประดับเครื่องหมายคล้ายเครื่องหมายของสำนักงานอัยการสูงสุดในลักษณะเผยแพร่โดยสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเข้าใจได้ว่านายมงคลเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ อาจเป็นการกระทำที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 141 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการฯมาตรา 6,8 เเละการตรวจสอบพบว่านายมงคล มิได้มีสถานะข้าราชการอัยการ และยังได้แต่งกายเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่มีสิทธิ
เจ้าพนักงานคดี สำนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวนจึงดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับนายมงคล เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ต่อพนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชัน เเละยังพบว่ามีพยานพบเห็นนายมงคลยังมีพฤติการณ์แต่งกายคล้ายเครื่องแบบปกติขาวและกากี และเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดผ่านทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมอีกหลายสิบครั้งจนอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้เเจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคลเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2567 จนมีการขอออกหมายจับเเละศาลอนุญาตออกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. จนมีการบุกจับกุมตัวนายมงคลได้เมื่อวันที่ 25 ก.ค.โดยขณะถูกจับกุมใส่ชุดเลียนเเบบข้าราชการอัยการเเบบเต็มยศเเละต่อมาภายหลังได้รับการประกันตัว
สำหรับการดำเนินคดี พนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชันได้สรุปสำนวนมีความเห็นทางคดี เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาส่งพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 พิจารณาดำเนินการ จนภายหลังจับกุมได้ตัวมาตามหมายจับของศาล ทราบว่าขณะนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมโดยนัดหมายสอบคำให้การผู้กล่าวหาเพิ่มเติมในวันที่ 31 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนายมงคลปรากฎภาพเเละข่าวตามสื่อมวลชนในงานของหน่วยราชการต่างๆเช่นพิธีประดับยศของข้าราชการ หรืองานจัดอบรมตำเเหน่งสำคัญของข้าราชการในบางกระทรวง เเละยังมีพฤติการณ์ไปพบปะบุคคลระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ จนมีผู้หลงเชื่อว่าเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการจริง เเละพบว่ายังมีพฤติการณ์อื่นๆนอกจากเรื่องเเสดงตัวเป็นอัยการ ที่ถูกร้องเรียนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดอีก