สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมวันอาสาฬบูชา ศึกษาอริยมรรค - ครองสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ห่างไกลมิจฉาชีพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชาวันที่ 20 ก.ค. 2567 ความว่า
ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ซึ่งเป็นสรณะนำทางชีวิตของพุทธบริษัท ให้มุ่งหน้าดำเนินไปสู่หนทางดับเพลิงกิเลสกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงประกาศวิถีทางดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ 8 ที่เรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์
ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบัน อันเต็มไปด้วยมิจฉาชีพ มีการฉ้อโกง หลอกลวง ประทุษร้ายกัน ประกอบกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มิจฉาชีพจึงสบช่องทำอันตรายต่อผู้คนในสังคมทุกระดับอย่างอย่างรวดเร็วและร้ายแรงมากขึ้น
ท่านทั้งหลายควรเร่งหันมาศึกษาพิจารณาธรรมะหมวด “อริยมรรค” โดยดำเนินไปบนหนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุประการหนึ่ง กล่าวคือ การปลูกฝังสั่งสมให้สมาชิกในสังคม มีค่านิยมในการครอง “สัมมาอาชีวะ” ซึ่งหมายถึง “การเลี้ยงชีพชอบ” ไว้ให้ได้อย่างมั่นคง ขอให้ช่วยกันเชิดชูสุจริตชนผู้แสวงหาปัจจัยมาบริโภคโดยชอบ ขอให้งดเว้นการคิดคดโกง หลอกลวง ประจบสอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ และต่อลาภด้วยลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียร ไม่อาศัยกำลังกายและกำลังปัญญาของตน ขอให้หยุดและเลิกการกระทำบนพื้นฐานของความโลภที่เกินประมาณ ถึงขั้นทำลายวัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงาม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสวัสดิภาพของส่วนรวม อันจัดเข้าข่ายว่าเป็นมิจฉาชีพทั้งสิ้น
วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังอาจเตือนใจให้ทุกท่าน ตระหนักแน่วแน่ในอริยมรรคข้อ “สัมมาอาชีวะ” เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข จงหมั่นเพียรศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมะ มีน้ำใจกล้าหาญที่จะละทิ้งความเป็นมิจฉาชีพ แล้วสู้อุตสาหะประกอบสัมมาชีพด้วยกันทุกคน เพื่อให้ทุกครอบครัว และทุกชุมชน เป็นสถานที่ปลอดจากทุจริตชน นับเป็นการเกื้อกูลตนเอง และสรรพชีวิตทั่วหน้า ให้สามารถพ้นจากภยันตราย ได้สมตามความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแท้จริง อนึ่ง ขอความเจริญงอกงามในพระสัทธรรม จงพลันบังเกิดมีแด่สาธุชนผู้เลี้ยงชีพชอบ โดยทั่วหน้ากัน เทอญ.”