‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอนระเบียบกรมอุทยานฯ คุมเข้มเก็บ ‘รังนกอีแอ่น’ 4 ข้อ ชี้เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต พร้อมสั่งทุเลาการบังคับใช้ฯจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
..............................................
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2148/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1402/2567 ระหว่าง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) กับ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยฟ้องขอให้เพิกถอนข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 11 และข้อ 17 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2565
โดยศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบพิพาท กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าสงวนและรังของสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มาตรา 14 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดข้อยกเว้นแก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่นและผู้ที่อาศัยอำนาจของผู้รับอนุญาตดังกล่าวให้สามารถเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าดังกล่าวได้ หากแต่ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนด
โดยระเบียบที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดนั้น จะต้องเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับมาตรการการดำเนินการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเก็บรังนกอีแอ่น การที่ข้อ 6 ประกอบข้อ 17 ของระเบียบพิพาท กำหนดให้การเข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าซึ่งในระเบียบพิพาทกำหนดให้หมายถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดี
และข้อ 7 ประกอบข้อ 11 ของระเบียบพิพาท กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีก่อนดำเนินการให้สัมปทานการเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่านั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบบัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น ดังเช่นมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ดังนั้น เมื่อมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว มิได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า ผู้ถูกฟ้องคดี จึงไม่อาจออกระเบียบกำหนดให้การเข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีได้
อีกทั้งเมื่อมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้การเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นกรณีเฉพาะแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบที่จะใช้อำนาจตามความในมาตราดังกล่าวประกอบกับระเบียบซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรานั้น โดยไม่จำต้องอาศัยอำนาจตามระเบียบพิพาทแต่อย่างใด
สำหรับในส่วนของเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้น เมื่อพิจารณามาตรา 66 ประกอบมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 แล้ว เห็นว่า การกระทำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ถูกฟ้องคดีนั้น ต้องเป็นการกระทำตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้การเข้าไปในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนแต่อย่างใด
ดังนั้น ข้อ 6 และข้อ 17 ของระเบียบพิพาท จึงมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร อีกทั้งยังขัดหรือแย้งกับมาตรา 66 ประกอบมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
สำหรับในส่วนของข้อ 7 และข้อ 11 ของระเบียบพิพาทนั้น เห็นว่า การที่ข้อ 7 ประกอบข้อ 11 ของระเบียบพิพาทกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีก่อนดำเนินการให้สัมปทานการเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่านั้น ย่อมทำให้อำนาจในการพิจารณาให้สัมปทานเก็บรังนกตามมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2540 อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ เปลี่ยนแปลงไปเป็นอำนาจที่ต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน
ข้อ 7 และข้อ 11 ของระเบียบพิพาท จึงมีผลเสมือนเป็นการกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นต้องขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดี ก่อนให้สัมปทานเก็บรังนก และทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจเหนือคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นในการใช้อำนาจตามมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2540
ดังนั้น ข้อ 7 และข้อ 11 ของระเบียบพิพาทจึงขัดหรือแย้งกับอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2540 และเมื่อระเบียบดังกล่าวเป็นกฎหมายลำดับรอง ย่อมไม่อาจมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายที่สูงกว่าได้
อีกทั้งมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบพิพาท ก็ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดี (อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) ในการให้ความเห็นชอบการให้สัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้
พิพากษาเพิกถอนข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 11 และข้อ 17 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 31 พ.ค.2567 ที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ ข้อ 11 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2565 ไว้เป็นการชั่วคราว มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น