ครม.ปรับเพดาน-ระยะเวลาคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีถูกเลิกจ้างจากเดิม ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็น ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท เริ่มคิดตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้างให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยปรับเพิ่มเพดานของค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็น ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท สำหรับเงินค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพราะวัตถุประสงค์คือเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงาน สำหรับค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างกรณีที่ถูกเลิกจ้าง (เช่น เหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นต้น) และเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานมีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ อัตรเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เห็นว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 660 ล้านบาท แต่จะส่งผลให้ลูกจ้างและพนักงานที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับจากนายจ้าง ทั้งนี้ กรมสรรพากรอาจต้องมีการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับในปีภาษี 2566 ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2567
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/illustrations/