'วิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์' อธิบดีอัยการคดีพิเศษ สั่งเตรียมพร้อมรับสำนวนคดีกลุ่มชาวเมียนมาลักลอบนำบุหรี่ต่างประเทศเข้าไทยช่วงปลายปี 64- ต้นปี 65 ความเสียหาย 108 ล้าน ก่อนแสดงวิสัยทัศน์เข้าสมัคร กก.ป.ป.ช. แทน 'บุณยวัจน์ เครือหงส์' 31 พ.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษได้สั่งการให้มีการประสานงานและเตรียมพร้อมในการรับสำนวนคดีพิเศษที่รับเรื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีที่ 310/2565 โดยพฤติการณ์คดีดังกล่าวนั้นเป็นกรณี กลุ่มผู้ต้องหาชาวเมียนมากับพวกนำบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
สำหรับคดีนี้ผู้กล่าวหาคือกรมศุลกากรมี ร.ต.อ.หญิง ดุจเดือน อัตตโนรักษ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้กล่าวหา นายเนลินเตน ชาวเมียนมากับพวกรวม 11รายซึ่งเป็นคนเมียนมา9คนนิติบุคคล 1 รายเเละคนไทย1 คน ในฐานความผิด นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร, นำหรือยอมให้ผู้อื่น นำของต้องกำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกยานพาหนะ, ใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอม, แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการมูลค่าความเสียหาย ราคารวมค่าภาษีอากรทุกประเภท 108,878,153 บาท (หนึ่งร้อยแปดล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยห้าสิบสามบาท)
พฤติการณ์คดีซึ่งถูกสรุปในชั้นการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า เมื่อช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจสอบเรือเดินทางต่างประเทศชื่อ MV.CHITA สัญชาติมองโกเลีย ณ ท่าเทียบเรือ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์จำกัด (มหาชน) พบบุหรี่ต่างประเทศจำนวน 2,740ลัง ซึ่งไม่มีการสำแดงในบัญชีรายการสินค้าประจำเรือ มีนายเนลินเตนชาวเมียนมา เป็นนายเรือ พร้อมลูกเรือ 8 คน จึงยึดสินค้าบุหรี่และจับกุมผู้ต้องหาในความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมีได้ผ่านพิธีการศุลกากร ฯลฯ
โดยคดีนี้กล่าวหาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร และนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องกำจัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรขึ้นบรรทุกยานพาหนะ, ผู้ต้องหาที่ 2-11สนับสนุนในการที่ผู้ต้องหาที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรซี่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร, ผู้ต้องหาที่ 11 ใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอม แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรตามมาตรา 242แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560จำนวน 1 กรรม
ผู้ต้องหาที่ 10-11 ในความผิดฐานสนับสนุนในการที่ผู้ต้องหาที่ 1นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 245 ประกอบมาตรา 242 แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560จำนวน 1 กรรม
ผู้ต้องหาที่ 11 ในความผิดฐานใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 264 ,265 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 กรรม, ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามมาตรา 137และมาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 1 กรรม
เเต่เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ขึ้นบรรทุกยานพาหนะตามมาตรา 247 แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ผู้ต้องหาที่ 29 ในความผิดฐานสนับสนุนในการที่ผู้ต้องหาที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่ง ของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรตามมาตรา 245ประกอบมาตรา 242 แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
โดยมีรายงานข่าวว่าหลังจากที่อัยการได้รับคดีมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวิรุฬห์ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการตั้งคณะทำงานรับพิจารณาสำนวนคดีที่จะเข้ามาในสัปดาห์นี้เพื่อมีคำสั่งทางคดีต่อไป เนื่องจากคดีนี้กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทางการคลังของประเทศ ทำให้ประเทศขาดรายได้ที่ควรจะได้จากต่างประเทศเเละเป็นความผิดมูลฐานการฟอกเงิน
สำหรับนายวิรุฬห์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จะเข้าเเสดงวิสัยทัศน์ในการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 31 พ.ค. โดยเป็นการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งแทน พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ70 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 14 วรรคสองของกฎหมาย ป.ป.ช.
โดยรายชื่อผู้สมัครกรรมการ ปปช.ทั้ง 18 คนประกอบด้วย
1.นายธัญญา เนติธรรมกุล อายุ 61ปี อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
2.ว่าที่ร.ต.อำนวย อุปถัมภ์ อายุ 60 ปี ทนายความอิสระ
3.นายวิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์ อายุ 58 ปี ทนายความ
4.นายประภาศ คงเอียด อายุ 62 ปี อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง และอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์
5.น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ และอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี
6.นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อายุ 69 ปี อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
7.นายอาคม รุ่งแจ้ง อายุ 65 ปี ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
8. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อายุ 64 ปี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด
9.นายประจวบ ตันตินนท์ อายุ 65 ปี อดีตผู้บริหารบริษัทมหาชน และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
10. นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังสี อายุ 65 ปี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด
11. ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อายุ 61 ปี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัทมหาชน
12. นายปรีชา พงษ์พานิช อายุ 66 ปี อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 1 สำนักงานอัยการสูงสุด
13. นายวันชัย คงเกษม อายุ 60 ปี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
14. นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อายุ 53 ปี ทนายความ และหัวหน้าสำนักกฎหมายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว
15.นายประหยัด เสนวิรัช อายุ 66 ปี ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายประหยัดทนายความ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
16.นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อายุ 59 ปีอดีต ผอ. โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ แลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
17.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อายุ 59 ปีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
และ18.นายสาธิต อุไรเวโรจนากร อายุ 59 ปี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และอดีตกรรมการกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง