‘จุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์’ รองอัยการสูงสุด อภิปรายในเวที CCPCJ นำเสนอบทบาทความร่วมมือไทย-ต่างประเทศ ปราบอาชญากรรมข้ามชาติ ริบทรัพย์ซ่อนในต่างแดน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด เปิดเผยว่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วย การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) สมัยที่ 33 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
นายจุมพล กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-17 พ.ค.2567 คณะผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วม การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการ ป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) สมัยที่ 33 ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเวียนนา (Vienna International Centre : VIC) สาธารณรัฐออสเตรีย มีผู้เข้าร่วมการประชุม 1,400 คน จาก 128 ประเทศ
ซึ่งวันที่ 14 พ.ค.2567 ตนเองได้เป็นตัวแทนกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก อภิปรายในที่ประชุมใหญ่ (Plenary) ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาของกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้นำเสนอบทบาทของไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนตามสนธิสัญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา การร่วมก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือทางการยุติธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAJust) การเป็นกรรมการบริหารเครือข่ายติดตามทรัพย์สินภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARIN-AP) และความร่วมมือของไทยกับประเทศต่างๆ ในการปราบปรามดำเนินคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการติดตามริบทรัพย์สินของอาชญากรที่นำไปซุกซ่อนในต่างแดน
นายจุมพล กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. สำนักงานอัยการสูงสุดได้ร่วมกับสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และกระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจัดกิจกรรมคู่ขนานเสวนาในหัวข้อ “The Role of Networks in Facilitaing International Cooperation in Criminal Matters: SEAJust Achievements and Prospects”
โดยตนเองได้ร่วมอภิปราย และนำเสนอประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงานอัยการสูงสุดในความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และบทบาทนำในการร่วมก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือทางการยุติธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAJust) โดยสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศร่วมก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2563 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเครือข่ายของผู้ประสานงานกลางด้านความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาในการดำเนินการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสอบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันขยายเครือข่ายมีสมาชิก 21 ประเทศ ครอบคลุมทั้งเอเชีย แปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ คณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ CCPCJ นั้น เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) ของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1992 โดยมีการประชุมทุกปี (annual sessions) เพื่อหารือนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา การปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime – UNTOC) และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) รวมทั้งตราสารระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า ตลอดจนส่งเสริมมาตรฐานและค่านิยมของสหประชาชาติ (UN standards and norms) การแลกเปลี่ยนข้อมูลในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งบทบาทของ CCPCJ ในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน