แสวง บุญมี เลขากกต. ตอบคำถามสื่อรูปแบบการเลือก สว. - การแนะนำตัวผู้สมัคร กำหนดตามกฎหมาย ไม่ใช่การทำเองของ กกต. ชี้ประชาชนติดตามตรวจสอบได้ตั้งแต่การปิดรับสมัคร เผยจะมีการเผยแพร่ผู้สมัครผ่านแอปสมาร์ทโหวต-เว็บไซต์ ‘ธนาธร’ ชวนคนสมัครไม่ผิด ขณะที่ไทม์ไลน์ชัดๆยังไม่มา รอพระราชกฤษฎีกาประกาศก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อวิจารณ์รูปแบบของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า รูปแบบการเลือกอยู่ในกฎหมายไม่ใช่ของ กกต.ไปแก้อะไรไม่ได้แน่นอน ส่วนการแนะนำตัว ความจริงมาจากกฎหมาย กกต.ไม่ได้ทำอะไรเกินกฎหมาย โดยกฎหมายให้แนะนำตัว คือการแนะนำตัวกับผู้มีสิทธิ์เลือกคือผู้สมัคร ส่วน กกต.ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน เพราะสุดท้ายแม้จะไม่ได้เลือกโดยตรงจากประชาชน แต่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิ์ติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ตั้งแต่หลังปิดสมัคร โดย กกต.จะนำชื่อผู้สมัคร สว.ทุกคน เผยแพร่ลงในแอปพลิเคชั่น สมาร์ทโหวต และในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อ ประวัติ การทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัคร ขณะที่ผู้สมัคร สว.สามารถติดต่อกันได้ทางอีเมลหรือแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อแนะนำตัวเอง คิดว่าระบบนี้เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนและผู้สมัคร สว.มีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้
@‘ธนาธร’ เชิญคนมาสมัคร สว. ทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีบุคคลออกมาเปิดเผยตัวว่าจะลงเป็นผู้สมัคร สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวน สามารถทำได้ เมื่อถามกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเชิญชวนให้สมัคร สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สามารถทำได้ ไม่ว่าใครก็ทำได้
@ไทม์ไลน์ชัดๆ รอ พรฎ.ประกาศก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงไทม์ไลน์วันสมัครที่ชัดเจน เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้มีการประกาศออกมา เลขาฯ กกต.กล่าวว่า กรณีเลือก สว.ไม่เหมือน ส.ส.ที่จะบอกได้ว่าเลือกตั้งวันไหน และภายในกี่วัน แต่ สว.จะเริ่มดำเนินการนับหนึ่งได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ประกาศ ตอนนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา หลังจากโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จึงมีกระบวนการชัดเจน รวมเวลาแล้วไม่เกิน 60 วัน
เมื่อถามว่า หากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาแล้ว สว.สามารถเผยแพร่ประวัติหรือข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในระเบียบแนะนำตัวให้สามารถทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือโซเชียลมีเดียได้ และให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเอง และในวันเลือกตั้ง กกต.จะถ่ายทอดผ่านวงจรปิดทุกที่เพื่อให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนได้สังเกตการณ์ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ
@สื่อยังเผยแพร่ผู้สมัคร สว.ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อปฏิบัติของสื่อ หลังมี พ.ร.ฎ.เลือก สว.การสัมภาษณ์ผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ จะต้องลบคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้หรือไม่ เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย กกต.ได้ดูพฤติการณ์ทั้งสื่อและกลุ่มคนที่จะสมัครหรืออาจไม่สมัคร ได้รวบรวมไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่เห็นอะไรที่ล่อแหลมจะผิดกฎหมาย สำหรับกรณีของสื่อ ระเบียบการแนะนำตัวออกมาใช้บังคับกับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับสื่อ
"สื่อสามารถรายงานหรือเสนอข่าว หรือวิเคราะห์ข่าว ให้ความเห็น จัดเวทีได้หมด แต่ให้พึงระวังเรื่องของกฎหมายอื่น เพราะอาจไปหมิ่นประมาทผู้สมัครอื่น แต่หากเป็นข้อเท็จจริงสามารถนำเสนอได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด เราอาจห้ามผู้สมัคร โดยผู้สมัครจะต้องระวังตัวในการแนะนำตัวและปฏิบัติตามคำแนะนำของ กกต." นายแสวงระบุ
เมื่อถามว่า กกต.มีกลไกป้องกันการทุจริต หรือฮั้ว ในการเลือก สว.หรือไม่ เลขาฯ กกต.กล่าวว่า โดยตัวระบบกฎหมายที่ออกมาป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าคนจะไม่คิดฮั้ว และจากนี้ไปคือมาตรการของ กกต.ทั้งนี้ จำนวนผู้สมัครประมาณ 4 แสนคน อาจจะมองดูเยอะ แต่ที่จริงแล้วแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพเมื่อเลือกแล้วจะเหลือไม่กี่คนในสาขาอาชีพ โดยมาตรการฮั้วจะมี 2 รูปแบบ คือ แลกคะแนนกัน โดย กกต.จะมีมาตรการจัดการไม่ว่าผู้สมัครจะทำบนดินหรือใต้ดิน และการจัดตั้ง เอาผู้สมัครมาเลือกคนที่จะให้เป็น สว.คือไม่ได้สมัครเพื่อที่จะเป็น สว.แต่จะมาเป็นเสียงเพื่อเลือก สว.ให้ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ และ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ