ครม.อนุมัติปล่อยกู้ ‘สปป.ลาว’ ปรับปรุงเส้นทาง R12 วงเงิน 1.83 พันล้าน หนุนเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ‘ไทย- สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน’
...................................
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก-จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป.ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833.74 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
สำหรับเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว ในครั้งนี้ จะเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมบริหารของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) 0.15% ของวงเงินกู้ อายุสัญญา 30 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี มีระยะเวลาการเบิกจ่าย 6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา
กำหนดให้ต้องใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา และผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา และผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษา ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เป็นต้น
น.ส.เกณิกา ระบุด้วยว่า การดำเนินโครงการ R12 ดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1.ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway) 2.ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน3.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย และ 4.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว
น.ส.เกณิกา กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ จากจุดเริ่มต้นและจุดหมายเดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด
อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณ 50% ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย-สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น