ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องรัฐบาลหยุดแช่แข็งกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ-ยุติการทำเหมืองโปแตชและเหมืองทองคำ-ประเมินอย่างรอบด้านต่อโครงการแลนด์บริดจ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แพร่แถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดแช่แข็งกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ ยุติการทำเหมืองโปแตชและเหมืองทองคำ ประเมินอย่างรอบด้านต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นที่มีส่วนร่วมและอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิเพื่อคุ้มครองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยทุกคนจากเมียนมา ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน
มีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2567
ในโอกาสวันสตรีสากล ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ขอยืนหยัดด้วยความภูมิใจเคียงข้างผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะผู้หญิงในพม่าและปาเลสไตน์ ผู้หญิงเหล่านี้ไม่เพียงเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายที่สำคัญ หากยังเป็นแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งและเป็นแรงกระตุ้นให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของเรา
สะท้อนภาพที่เลวร้ายของรัฐสภาไทย
ในช่วงห้าเดือนนับแต่เข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาล เราได้เห็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อของพี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนและการกลับมาสองครั้งของพีมูฟ แต่เราไม่เห็นนายกรัฐมนตรีลงไปเจรจาโดยตรงกับขบวนการประชาชนระดับรากหญ้าเลย อีกทั้งในระบอบรัฐสภาปัจจุบันยังมีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงิน 31 ฉบับที่รอการอนุมัติของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นอกจากนั้น ยังมีผู้ทำรัฐประหารที่กลายเป็นสส. แต่ไม่ยอมมาทำหน้าที่ที่รัฐสภาแต่ให้ไปหาที่บ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพที่เลวร้ายของรัฐสภาไทยในปัจจุบัน
เรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลยุติการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมการขุดเจาะหรือการสกัดทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดิน รวมทั้งเหมืองโปแตชและเหมืองทองคำ
ต่อคำแถลงที่น่าตกใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับนโยบายแร่ เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลยุติการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมการขุดเจาะหรือการสกัดทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดิน รวมทั้งเหมืองโปแตชและเหมืองทองคำ อุตสาหกรรมเหล่านี้ทำให้บรรษัทเกิดอิทธิพลครอบงำ และนำไปสู่ความขัดแย้งในชุมชน ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่สมดุลด้านอำนาจและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมและไร้ซึ่งความรับผิดชอบใดๆต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อกดดันให้เกิดแม่แบบเศรษฐกิจทางเลือก ที่มีพื้นฐานมาจากการปกป้องคุ้มครองผืนดินและการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
เรียกร้องให้รัฐบาลประเมินอย่างรอบด้านต่อโครงการแลนด์บริดจ์
เราเรียกร้องให้รัฐบาลประเมินอย่างรอบด้านต่อโครงการแลนด์บริดจ์ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อคุ้มครองผู้หญิง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านการดำรงชีพของชุมชนในท้องถิ่น
เรียกร้องรัฐหยุดแช่แข็งกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ
ท่ามกลางปัญหาท้าทายด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ประกอบกับความล่าช้าและความเพิกเฉยของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน ชุมชนของเราจึงต้องต่อสู้ท่ามกลางปัญหาร้ายแรง ที่สำคัญคือการที่รัฐบาลแช่แข็งกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ ทั้งๆที่ปัญหาที่พนักงานต้องเผชิญอยู่ทุกวันไม่ได้ถูกแช่แข็งไปด้วย แม้จะมีการให้คำยืนยันว่าจะเกิดความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรือง แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงแตกต่างไปอย่างมาก ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเร็วกว่ารายได้เฉลี่ยของผู้ทำงานรับจ้างส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น หากจะเปรียบเทียบจากรายได้100 บาท แต่ผู้หญิง แม่ และผู้ดูแลส่วนใหญ่ (ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานดูแล) มีค่าใช้จ่ายในการครองชีพอยู่ราว 260 บาท ทำให้เกิดภาระการเงินอย่างมากต่อพวกเรา ทำให้ไม่สามารถควบคุมจัดการค่าใช้จ่ายได้
ย้ำรัฐยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยได้
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังคงเลวร้าย ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าตกใจ โดยการประมาณการณ์ว่าจะคิดเป็นอัตรา 91.4% ของ GDP จนถึงสิ้นปีนี้ ตัวเลขที่เพิ่มสูงเช่นนี้สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า และการไม่สามารถเข้าถึงเงินและทุนของคนที่มีความจำเป็น ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับรากหญ้า เราได้เป็นประจักษ์พยานเห็นการต่อสู้ของชุมชน ซึ่งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยได้
ระบุการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการของคนในแต่ละช่วงวัยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และไม่ครอบคลุมถึงรายได้จากการดูแลสำหรับแม่และผู้ดูแล
การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการของคนในแต่ละช่วงวัย 11% ของงบประมาณประเทศ ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ มีการจัดสรรงบประมาณเหล่านี้ให้กับหลายภาคส่วน แต่ไม่ครอบคลุมถึงรายได้จากการดูแลสำหรับแม่และผู้ดูแล ทำให้เกิดผลกระทบมากในทางปฏิบัติในชีวิตของประชาชน การลงทุนที่สำคัญคือการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้งบประมาณรายจ่ายสาธารณะเพื่อสังคม (public social spending) และโครงการด้านสวัสดิการ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างมากเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคคลทุกคน แต่การจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน ยังไม่ตอบสนองและสามารถแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนนี้ได้
เรียกร้องให้มีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างมาก และเราเรียกร้องให้มีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขบวนการของเราได้ยื่นข้อเสนอให้บรรจุค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่นี้ รัฐบาลต้องหยุดการใช้ประโยชน์จากผู้หญิงเพื่อทดแทนระบบสวัสดิการสังคม โดยรัฐไม่แบกรับภาระต้นทุนแต่อย่างใด ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รณรงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ทุกข้อทุกมาตรา เพื่อให้มีการลดอำนาจและงบประมาณของกองทัพ และเพื่อการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ยึดเอาความต้องการ สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
ย้ำในกรณีของการนิรโทษกรรม ต้องมีการตีความ 'คดีทางการเมือง' ให้ครอบคลุม การฟ้องคดีทางการเมืองแสดงถึงการใช้อำนาจของหน่วยงานการเมือง
ในกรณีของการนิรโทษกรรม ต้องมีการตีความ 'คดีทางการเมือง' ให้ครอบคลุม การฟ้องคดีทางการเมืองแสดงถึงการใช้อำนาจของหน่วยงานการเมือง โดยเกิดขึ้นผ่านกลไกของรัฐและนโยบายที่ละเมิดสิทธิของประชาชน การทำความเข้าใจกับคดีทางการเมือง ต้องอาศัยมุมมองที่กว้างขวาง ต้องตระหนักว่ามีการใช้คดีเหล่านี้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเพื่อรักษาอำนาจควบคุมเอาไว้ มุมมองนี้ต้องครอบคลุมประสบการณ์จากกลุ่มชายขอบที่หลากหลาย รวมทั้งคนจน ผู้หญิง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงในช่วงการปกครองของทหาร ยกตัวอย่างเช่น มีกรณีของการเอาผิดทางอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายแย่งยึดที่ดินและป่าไม้ของรัฐบาลทหารคสช. ที่เน้นให้เห็นปัญหาท้าทายเชิงระบบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เรียกร้องความยุติธรรมและความรับผิด
ชี้การจับกุมนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระการควบคุมตัวเยาวชนนักกิจกรรม ทนายความสิทธิมนุษยชนที่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองและเรียกร้องการปฏิรูประบบยุติธรรม เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการละเมิดสิทธิที่เพิ่มขึ้น
การจับกุมนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งการควบคุมตัวเยาวชนนักกิจกรรม ทนายความสิทธิมนุษยชนที่แสดงความเห็นต่างทางการเมือง และเรียกร้องการปฏิรูประบบยุติธรรม รวมทั้งความเพิกเฉยของหน่วยราชการในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการละเมิดสิทธิที่เพิ่มขึ้น ภายใต้รัฐบาลที่ดูเหมือนจะคุ้มครองหลักการประชาธิปไตย เหตุการณ์เหล่านี้เน้นให้เห็นแนวโน้มที่น่าตกใจของการปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง เน้นให้เห็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงภายใต้ระบอบที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย
เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นที่มีส่วนร่วมและอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิ เพื่อคุ้มครองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยทุกคนจากพม่า
ในพม่า สามปีหลังการทำรัฐประหาร ผู้หญิงยังคงเป็นแกนนำในการประท้วงและขบวนการอารยะขัดขืน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจรัฐของทหาร และเราขอแสดงความกังวลโดยเฉพาะกับสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชนบทและในพื้นที่ขัดแย้ง และผู้หญิงที่ลี้ภัยอยู่ เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นที่มีส่วนร่วมและอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิ เพื่อคุ้มครองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยทุกคนจากพม่า
ขอยืนเคียงข้างผู้หญิง เด็ก และครอบครัวชาวปาเลสไตน์ ซึ่งต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอิสราเอล/สหรัฐฯ โดยผ่านการทิ้งระเบิดและการทำให้อดอยาก
เราขอยืนเคียงข้างผู้หญิง เด็ก และครอบครัวชาวปาเลสไตน์ ซึ่งต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอิสราเอล/สหรัฐฯ โดยผ่านการทิ้งระเบิดและการทำให้อดอยาก เรายังคงเศร้าใจกับข้อมูลที่ว่า แม่ชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารสองคนในทุกชั่วโมง ส่วนเด็กกว่า 14,000 คนถูกสังหาร และยังมีเด็กอีกมหาศาลที่ต้องอดอยากหิวโหยในกาซา เรายืนยันถึงจุดยืนของเราที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ และสนับสนุนปฏิบัติการของขบวนการที่เกิดขึ้นในทุกแห่งหนในโลก และขอเชิญชวนให้ผู้หญิงและบุคคลทุกคนปฏิเสธไม่ยอมปิดปากและไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง เมื่อพูดเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์
เรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล และกระตุ้นให้พวกเขาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของบุคคลเพียงไม่กี่คนและผลประโยชน์ของบรรษัท
เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล และกระตุ้นให้พวกเขาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของบุคคลเพียงไม่กี่คนและผลประโยชน์ของบรรษัท ถึงเวลาที่ต้องมีปฏิบัติการอย่างจริงจัง และมีการแสดงพันธกิจอย่างจริงใจต่อหลักการด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรม
ในโอกาสวันสตรีสากล เราขอเรียกร้องผู้หญิงและพันธมิตรทุกคนให้ร่วมกับเราในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคน
ในโอกาสวันสตรีสากล เราขอเรียกร้องผู้หญิงและพันธมิตรทุกคนให้ร่วมกับเราในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคน ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อให้เกิดการรายงานข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้หญิงรากหญ้าเอง และเพื่อฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของขบวนการ เพื่อให้สามารถยืนหยัดอย่างแท้จริงเพื่อสนับสนุนพลังของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่เข้มแข็งขึ้นในทุกๆวัน
ด้วยความมีเอกภาพ ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
หมายเหตุ : ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นการรวมตัวกันของผู้หญิงจากรากหญ้า 19 เครือข่ายซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อรวมกลุ่มของผู้หญิงที่มีพลังในการ ต่อสู้ เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่จะสามารถกำหนดเจตนารมณ์และความต้องการ ของตัวเองในการแก้ไขปัญหาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม