กสม.ชี้กรณีเด็กไร้สัญชาติ 18 ราย ร้องเรียนจากการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการ พิจาณราแล้วสั่งการ รร.ต้นสังต้นปและ สฟป.เพชรบุรีเขต 2 เร่งออกเลข G ใหม่โดยเร็ว ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เสริมความรู้ให้แก่ผู้ถูกร้องทั้งสอง และให้โรงเรียนประสานหลักฐานการขอเลขกับผู้ปกครองของเด็กแต่ละคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแกนนำประสานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า นักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยของโรงเรียนบ้านป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) จำนวน 27 คน ไม่ได้รับการกำหนดและรับรองรหัสประจำตัวผู้เรียน (รหัส G) จากสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เพชรบุรี เขต 2 (ผู้ถูกร้องที่ 2) ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษา เช่น ไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ค่าอาหารกลางวัน และค่าอาหารเสริม (นม) จึงรับไว้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ประกอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนที่จะได้รับการศึกษา และการจัดการศึกษาระดับประถมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี สิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนโดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการรับเข้าเรียน ลงทะเบียนนักเรียน นักศึกษา การออกหลักฐานทางการศึกษา และให้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่บุคคลดังกล่าว ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอัตราเดียวกันกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย
นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ประกอบหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04006/ว 2813 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 กำหนดให้สถานศึกษารับเด็กหรือบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน ซึ่งหากเด็กไม่มีเอกสารหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน โดยให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัวนักเรียน (รหัส G ) ให้แก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ผ่านระบบ G Code และให้นายทะเบียนหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบข้อมูลเพื่อรับรองหรือไม่รับรองรหัส G สำหรับใช้ในการแสดงตัวตน และใช้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนต่อไป ทั้งนี้ สถานศึกษาจะต้องกำหนดรหัส G ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากรับนักเรียนเข้าศึกษา
จากการตรวจสอบปรากฏว่า ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านป่าเด็ง ผู้ถูกร้องที่ 1 รับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน และอยู่ระหว่างกำหนดรหัส G จำนวน 27 คน โดยในกระบวนการกรอกข้อมูลนักเรียนพร้อมกับแนบเอกสารเข้าระบบ G Code เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 ผู้ถูกร้องที่ 2 ตรวจสอบ พบว่ามีนักเรียนจำนวน 18 คน ที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่พบหลักฐานสำเนาสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านหรือเลขประจำตัว 13 หลักของบิดาหรือมารดา แต่พบหลักฐานอื่น เช่น สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำเนาทะเบียนประวัติชุมชนพื้นที่สูง (ชาวเขา 9 เผ่า) หนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน หนังสือรับรองการไม่มีตัวตน (แบบ พฐ.23) ซึ่งไม่สามารถยืนยันตัวตนหรือรับรองรหัส G ได้ ประกอบกับระบบ G Code กำหนดให้กรอกข้อมูลผู้ปกครองในส่วนของเลขประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดา ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงไม่รับรองรหัสให้แก่นักเรียนทั้ง 18 คน เป็นเหตุให้นักเรียนจำนวนดังกล่าวไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม)
ขณะที่นักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยอีก 9 คน ซึ่งมีหลักฐานเลขประจำตัว 13 หลักของบิดาหรือมารดา ผู้ถูกร้องที่ 2 สามารถรับรองรหัส G ให้ได้ และโรงเรียนสามารถเพิ่มข้อมูลนักเรียนทั้ง 9 คน ในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center) หรือ ระบบ DMC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้
กรณีดังกล่าว กสม. เห็นว่า การที่โรงเรียนรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน จะต้องเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับของนักเรียนให้ครบถ้วนทุกราย ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 ได้แก่ (1) สูติบัตร (2) หนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน (3) หลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้ (4) ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชนทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบ เป็นหลักฐานทางการศึกษา หรือ (5) ให้สถานศึกษาซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบ เป็นหลักฐานทางการศึกษา ซึ่งในกรณีนี้ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่เรียกหลักฐานให้ครบตามระเบียบ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ ศธ 04006/ว 2813 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 พิจารณาเฉพาะหลักฐานคือสำเนาสูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาหรือมารดาเท่านั้น โดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานอื่น เช่น บันทึกแจ้งประวัติบุคคล หรือ บันทึกการซักถามประวัติโดยสถานศึกษา (ซึ่งโรงเรียนมิได้ดำเนินการเรียกหลักฐานให้ครบถ้วน) เป็นเหตุให้นักเรียนไม่ได้รับการรับรองรหัส G และไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการศึกษา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงกรอบระยะเวลาในการกำหนดรหัส G ตามกฎหมาย ซึ่งสถานศึกษาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากรับนักเรียนเข้าศึกษา การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการกำหนดรหัส G ล่าช้า ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาเช่นกัน
ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า ระบบ G Code ไม่ได้กำหนดความจำเป็นในการกรอกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขจากบัตรอื่น ๆ ของบิดาหรือมารดา รวมทั้งการกรอกข้อมูลผู้เรียน หากไม่ทราบวันเดือนเกิดให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม หากไม่ทราบสัญชาติและเชื้อชาติให้กรอกข้อมูลว่า “ไม่ระบุสัญชาติ” หากไม่มีสำเนาสูติบัตรให้แนบหลักฐานทางการศึกษาอื่นได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมีมติว่าผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการไม่รับรองและรับรองรหัส G ให้นักเรียนล่าช้า โดยมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องทั้งสองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
@เร่งออกเลข G ให้เด็กไร้สัญชาติอีก 18 ราย
(1) ให้โรงเรียนบ้านป่าเด็ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 (ผู้ถูกร้องที่ 2) กำหนดรหัส G ให้แก่นักเรียนที่ยังไม่ได้รับการกำหนดรหัสอีก 18 คน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เสริมความรู้ให้แก่ผู้ถูกร้องทั้งสอง และ
ให้โรงเรียนบ้านป่าเด็ง ประสานผู้ปกครองของนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรและเลขประจำตัว 13 หลัก รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งให้กับสำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน เพื่อแจ้งขอจัดทำเอกสารทะเบียนราษฎร และบัตรประจำตัวในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรด้วย
(2) ให้สำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน เร่งรัดจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามหน้าที่และอำนาจให้นักเรียน ต่อไป
(3) ให้กระทรวงศึกษาธิการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดรหัส G ในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับบริการการศึกษาสำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรให้แก่หน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันและถือปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น ความมุ่งหมายการกำหนดรหัส G การกรอกข้อมูลตามความจำเป็น เป็นต้น
ที่มาภาพปก: วารสารเสียงชนเผ่า