‘ศาลอาญา’ พิพากษาจำคุกอดีตกรรมการ ‘บ.เบลล์ยา-บ.เอเชีย ออย แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่-บ.พีเค 289 คอนโดทาวน์’ สูงสุด 335 ปี คดีร่วมกันฉ้อโกงบัตรเครดิต แต่ให้คงโทษจำคุกเหลือ 20 ปี พร้อมชดใช้เงินคืนธนาคาร 11.6 ล้าน
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยมีเนื้อหาว่า ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1164/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3042/2566 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2566 กรณีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เบลล์ยา จำกัด กับพวก รวม 6 คน ในคดีความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ฉ้อโกง และความผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
โดยศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/7 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 9, 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 91 ฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อื่นได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด
ทั้งนี้ จำเลยมีความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท เบลล์ยา จำกัด ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จำนวน 335 ปี 264 เดือน ,ให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอเชีย ออย แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 4 จำนวน 105 ปี 132 เดือน และให้จำคุกอดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท พีเค 289 คอนโดทาวน์ จำกัด ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 6 จำนวน 105 ปี 132 เดือน
โดยคงจำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้อดีตกรรมการบริษัท เอเชีย ออย แอนด์เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ชดใช้เงินคืนแก่ธนาคาร จำนวน 11,633,101 บาท
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากผู้แทนของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ได้ยื่นหนังสื่อร้องทุกข์ต่อ DSI ให้ทำการสืบสวนสอบสวน กรณีธนาคารตรวจสอบพบว่า ระหว่างเดือน พ.ย.2557 ถึงเดือน ธ.ค.2557 มีกลุ่มชาวต่างชาติร่วมกับคนไทย นำสัญญาจะซื้อจะขายโรงแรมในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.กระบี่ จ.กาญจนบุรี และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ รวมทั้งสัญญาเช่าโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนหลายแห่ง มายื่นขอใช้เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) กับธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย รวม 6 ธนาคาร และขอเปิดใช้บริการระบบการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ (Off Line)
โดยอาศัยช่องว่างของระบบการชำระเงินผ่านทางเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ในการทำรายการธุรกรรมแบบออฟไลน์ (Off Line) ด้วยการนำบัตรเครดิตของธนาคารต่างประเทศ จำนวน 29 ใบ มาทำธุรกรรมผ่านเครื่องรูดบัตรดังกล่าว โดยข้ามขั้นตอนการขอกันวงเงินกับธนาคารต่างประเทศเจ้าของบัตร และหลอกลวงนำรหัสอ้างอิงการชำระเงินที่เป็นเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารเจ้าของเครื่องรูดบัตร จำนวนหลายครั้ง
จนเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งหนึ่ง หลงเชื่อโอนเงินให้กับกลุ่มคนร้าย จำนวน 16 ล้านบาทเศษ แต่ภายหลังตรวจสอบพบสามารถอายัดเงินได้บางส่วน ยังคงได้รับความเสียหาย 11,633,101 บาท ส่วนธนาคารอื่นๆ ส่วนใหญ่พบความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อื่นได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ฐานฉ้อโกง รวมทั้งความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ต่อมา DSI รับเป็นคดีพิเศษที่ 107/2558 และต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองเทคโนโลยีและสารสนเทศ DSI ได้ทำการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยได้ส่งสรุปสำนวนคดีพิเศษให้แก่พนักงานอัยการและมีความเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ต้องหา และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ก่อนที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาดังกล่าว
นอกจากนี้ DSI ยังแจ้งเตือนผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยว โรงแรม บริษัท ห้างร้าน หรือประชาชน ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้ช่องทางการซื้อ ขายกิจการ หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งไม่มีการซื้อ ขายจริง โดยอ้างว่ารัฐบาลได้สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้กลโกงต่างๆ เช่น หลอกให้โอนเงินค่ามัดจำหรือค่าจองล่วงหน้าก่อน หลอกให้ร่วมลงทุนในกิจการท่องเที่ยวที่ไม่น่าเชื่อถือ หลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงิน (โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารปลอม) เป็นต้น
ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หากหลงเชื่อหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด อาจได้รับโทษตามกฎหมาย
@สอบปากคำแล้ว 115 ราย คดีหลอกลงทุน ‘บ.ทีซี แคปปิตอลฯ’
วันเดียวกัน กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ DSI เปิดเผยความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนกรณีมีผู้ชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนกับบริษัททีซี แคปปิตอล คอร์ป จำกัด ทางเว็บไซต์ www.thirdcredit.org ผ่านแอปพลิเคชัน Third Credit ซึ่งเป็นการหลอกลวงว่า บริษัทฯจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปปล่อยกู้ให้กับบริษัททั่วโลกฯ โดยให้ดอกเบี้ยกู้ยืมหรือผลตอบแทนสูง ว่า ล่าสุดมีประชาชนที่ร่วมลงทุนได้มาลงทะเบียนเป็นผู้เสียหาย จำนวน 153 ราย โดยมีการสอบสวนปากคำไปแล้ว 115 ราย รวมทั้งตรวจสอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ได้มีการรายงานคดีความผิดมูลฐานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามทรัพย์สินอีกทางหนึ่งแล้ว
“คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงินและทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินส่งสำนักงาน ปปง.เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความผิดและจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป” กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ระบุ
ทั้งนี้ หากผู้เสียหายหรือประชาชนผู้ใดทราบแหล่งซุกซ่อนทรัพย์สินจากการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสมายังกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยสามารถติดต่อ นางสาวปริมณ์ สาริยา ผู้อำนวยการส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 2 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2831 9888 ต่อ 51129 ได้โดยตรง