สภาผู้บริโภคเปิดสายด่วน ‘1502’ รับปรึกษา-ร้องเรียนปัญหา เพิ่มช่องทางช่วยเหลือประชาชน ตั้งเป้าขยายฐานการคุ้มครอง 77 จังหวัด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 สภาผู้บริโภค จัดกิจกรรม 'เปิดตัวเบอร์สายด่วนผู้บริโภค 1502' เพื่อรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ ผ่านสายด่วน 1502 รวมทั้งเผยแพร่บทบาทของสภาผู้บริโภค และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาผู้บริโภค ได้เปิดสายด่วน 1502 สภาผู้บริโภคเริ่มทำงานและดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ก.ค. 2564 มีองค์กรสมาชิก 314 องค์กรใน 54 จังหวัด ซึงใน 2 ปีที่ผ่านมารับเรื่องร้องทุกข์กว่า 38,500 เรื่อง แก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 80%
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการด้วยปลายนิ้ว และความทันสมัยที่ส่งผลร้ายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น การถูกหลอกลวง สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเอาเงินจากบัญชี เป็นต้น หากต้องการได้สินค้าและบริการที่ครบถ้วน ก็ต้องร้องเรียน หรือนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายรุนแรง
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องมี สภาผู้บริโภค ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน เสนอแนะนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค สนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด 15 จังหวัดและองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภค ทั้งนี้ เพื่อยกระดับ และขยายขอบเขตการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จึงได้มีการเพิ่ม ‘สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502’ ตามแนวนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงต้องเพิ่มช่องทาง ‘สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502’ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเหมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการขับเคลื่อนพลังผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่มีการแบ่งแยกเป็นภาค เป็นส่วน หรือที่ต่างคนต่างทำอีกต่อไป แต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียกร้อง ผลักดัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ภาคชนบท สู่พื้นที่เมือง ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
อีกทั้งเป็นพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันออกแบบงานคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นพื้นที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน ไกล่เกลี่ย อีกทั้งยังผลักดันเสียงของผู้บริโภคไปสู่ข้อเสนอนโยบายต่อนักการเมือง รวมถึงการสร้างยุทธศาสตร์ในการสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนในประเทศได้ประโยชน์
นางสาวบุญยืน กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าจะมีพลังที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือกลุ่มทุนใหญ่ลดการเอาเปรียบผู้บริโภคลงได้ และสิ่งสำคัญที่สุดและขาดไม่ได้คือผู้บริโภคทุกคนที่เป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมใหม่ที่เสียงของผู้บริโภคจะได้รับฟัง อำนาจต่อรองจะมีมากขึ้น มีนโยบายรัฐที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ส่วน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเริ่มต้นจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากทั่วประเทศร่วมกันจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคเริ่มดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 2 ปี มีจำนวนองค์กรสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 311 องค์กร ครอบคลุม 43 จังหวัด ต่อไปสภาผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าปีหน้าจะมีองค์กรสมาชิกครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
น.ส.สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากดูข้อมูลเชิงสถิติ ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถช่วยคุ้มครองผู้บริโภคมูลค่ากว่า 71,703,984.46 บาท นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศรวม 36 เรื่อง แบ่งเป็นนโยบายระดับประเทศ 25 เรื่อง และนโยบายระดับจังหวัด 9 เรื่อง
น.ส. สารี กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นว่ากระบวนการเอาเปรียบต้องยุติเร็วที่สุดและผู้บริโภคต้องสูญเสียน้อยที่สุด พร้อมช่วยเหลือและผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ตลอด เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย