วันที่สอง ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2567 เกิดอุบัติเหตุ 385 ครั้ง บาดเจ็บ 404 ตาย 37 ราย กทม.ดับสูงสุด
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org)รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2566 เกิดอุบัติเหตุ 385 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 404 คน ผู้เสียชีวิต 37 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29 – 30 ธ.ค. 66) เกิดอุบัติเหตุ รวม 724 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 739 ราย ผู้เสียชีวิต รวม 71 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 37 จังหวัด
ศปถ.ได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งด่านชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางชุมชนเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก พร้อมคุมเข้มเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน
พ.ต.อ. ทวี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 385 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 404 คน ผู้เสียชีวิต 37 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.55 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.60 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.29 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.52 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.44 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.32
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 9.61 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 20.63 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,408 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29 – 30 ธ.ค. 66) เกิดอุบัติเหตุรวม 724 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 739 คน ผู้เสียชีวิต รวม 71 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 37 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ ขอนแก่น (31 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และตาก (จังหวัดละ 30 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปราจีนบุรี (จังหวัดละ 5 ราย)