‘ชัชชาติ’ นำประชุมผู้บริหารกทม.ขานรับนโยบายปิดผับตีสี่ รอกฎกระทรวงประกาศใช้ ตรวจถี่สถานบริการที่ได้รับอนุญาต 30 แห่งทั่วกทม. แย้มโซนปิดตีสี่ ‘สีลม - RCA - รัชดาฯ’ ส่วนหนี้นอกระบบลงทะเบียน 3 วัน มาแล้ว 3,049 คน มูลหนี้รวม 169 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ เรื่องของการเปิดผับบาร์ถึงเวลา 04.00 น. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศร่างกฎกระทรวง แต่กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมมาตรการเพื่อรองรับไว้แล้ว โดยจะเน้นในสถานบริการซึ่งได้รับใบอนุญาตเดิม ประมาณ 200 กว่าแห่ง ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่ในโซนและนอกโซนที่กำหนด โดยในโซนที่กำหนดไว้ ได้แก่ สีลม RCA และถนนรัชดาภิเษก
“ขั้นตอนแรกได้ให้เขตสำรวจสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเดิมในพื้นที่ ว่ายังมีการประกอบกิจการอยู่หรือไม่ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตรวจกายภาพให้เรียบร้อย ทั้งความปลอดภัยทางหนีไฟ และผลกระทบทางเสียง รวมทั้งต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งตำรวจ เทศกิจ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และชุมชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการใช้บริการของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การจำหน่ายสุราให้กับผู้ที่มึนเมา การดื่มแล้วขับ และปัญหายาเสพติด อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องรอคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งว่าจะเปิดให้บริการในพื้นที่กลุ่มโซนใดบ้าง ส่วนการพิจารณากำหนดโซนนิ่งใหม่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ต้องสำรวจและทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ก่อน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงการเปิดให้บริการสถานบันเทิงที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ว่า จากข้อมูลโรงแรมที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ภายใน มีจำนวน 30 กว่าแห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งคงจะโฟกัสการตรวจเฉพาะสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาต ไม่ได้ครอบคลุมทุกโรงแรม เนื่องจากบางโรงแรมเปิดบริการเฉพาะที่พักอาศัยเท่านั้น
@3 วัน ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 3,043 ราย มูลหนี้ 169 ล้าน
ส่วนจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ กทม. นายชัชชาติระบุว่า ยังมีจำนวนไม่มาก แต่ได้สั่งการให้แต่ละชุมชนแจ้งข้อมูลเจ้าหนี้ในพื้นที่เพื่อประกอบกันด้วย รวมถึงจะให้สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายงดเก็บดอกเบี้ยเงินต้น 5,000 บาทแรก ของรัฐบาล ซึ่งต้องเตรียมกรอบวงเงินให้พร้อมเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ประสบผลสำเร็จ
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้เปิดให้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่ 50 สำนักงานเขต และผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ยอดรวม ณ วันที่ 3 ธันวาคม เวลา 19.00 น. พบว่ามีจำนวนผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ จำนวน 3,043 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ 2,971 ราย แบบWalk in 72 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 1,809 ราย ยอดหนี้ทั้งหมด กว่า 169.78 ล้านบาท