‘ผอ.แบงก์ออมสิน’ ปักธง ‘CSV’ ปรับธุรกิจไปช่วยแก้ปัญหาสังคม ‘ลดปัญหาความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ’ ชี้ธนาคารมีกำไร-สังคมดีขึ้น หวังต้นปีหน้าได้ใบอนุญาตทำธุรกิจ Non-Bank ดึง ‘ผู้มีความเสี่ยงสูง’ เข้าถึงระบบสินเชื่อได้
........................................
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ปาฐกถาในหัวข้อ ‘How Does Social Bank Work on The Journey toward Sustainability?’ ภายในงานสัมมนา GSB Forum 2023 ESG : Social Pillar Driven ‘คนยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน’ ตอนหนึ่งว่า เรื่อง ESG (Environmental ,Social และ Governance) เป็นเทรนด์ของทั้งโลก เพราะESG จะนำไปสู่ความยั่งยืน ขณะเดียวกัน องค์กรจำนวนมากยังให้ความสำคัญในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ด้วย
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ คือ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเชิงสังคม จึงขอเสนอว่า นอกจากเรื่อง ESG และ Net Zero แล้ว อยากให้พวกเรามาช่วยทำในเรื่องสังคม เช่น การช่วยเหลือคนจน การบรรเทาปัญหาความยากจน และการบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในมิติต่างๆ ซึ่งแม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ยาก ใช้เวลานาน และจะไม่หมดไปก็ตาม แต่เราสามารถบรรเทาได้
นายวิทัย กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงงานด้านสังคม หน่วยงานต่างๆเป็นจำนวนมาก มีมุมมองว่างานสังคมที่ทำ เป็นโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่มุมมองต่อ CSR นั้น เป็นเรื่องต้นทุน การจัดสรรงบประมาณ มีการจัดสรรงบ 10-200 ล้านบาท แล้วแต่ขนาดองค์กร มาทำโครงการใดโครงการหนึ่ง แล้วจบไป อาจมีความต่อเนื่องบ้าง แต่จะมีกลิ่นอายของการเป็นต้นทุน มาแล้วจบไป ไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้แก้ปัญหาในด้านสังคมที่ยั่งยืน
“อยากให้เปลี่ยนมุมมองความคิดในการช่วยสังคมในโครงการ CSR มาเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ในโลกปัจจุบันที่เรียกว่า CSV (creating shared value-การสร้างคุณค่าร่วม) ซึ่งเป็นการเอาปัญหาเชิงสังคมใส่เข้าไปในธุรกิจ ปรับการทำธุรกิจของเรา เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาทางสังคม ทำให้ Pie ของรายได้ และกำไรใหญ่ขึ้น สุดท้ายแล้วโครงการด้านสังคมจะไม่ถูกมองว่าเป็นการทำ CSR เป็นต้นทุน ทำแล้วหมดไป และจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย ระบุว่า ในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ธนาคารออมสินทำในสิ่งที่เรียกว่า CSV มาตลอด เริ่มจากปรับบทบาทของธนาคารที่เดิมมุ่งเน้นกำไร มาเป็น triple bottom line ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ People ,Planet และ Profit และยังเป็นที่มาแนวคิด ‘ธนาคารเพื่อสังคม’ รูปแบบใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ คือ สร้าง 2 ธุรกิจแยกออกจากกัน ในด้านหนึ่งก็ทำธุรกิจธนาคารปกติ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีกำไรพอสมควร แล้วเอากำไรจากธุรกิจปกติ ไปทำอีกธุรกิจหนึ่งที่เป็นภารกิจเชิงสังคม
“ธุรกิจฝั่งสังคมอาจเริ่มต้นด้วยการขาดทุนเลย ไม่ต้องมี break even ในบางโปรเจกต์ แต่เอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาอุดหนุนต้นทุนของธุรกิจเล็ก เพื่อช่วยคน เพื่อช่วยสังคม เรา (ธนาคารออมสิน) มีการ Cut Cost อย่างรุนแรง เพื่อทำให้เกิด Governance ซึ่งปีที่ผมมา ค่าใช้จ่ายเราอยู่ที่ปีละ 42,000 ล้าน แต่ตอนนี้ลดเหลือ 32,000 ล้าน ในขณะที่ขนาดธุรกิจของออมสินใหญ่ขึ้น เราลดลงมา 10,000 ล้านบาท เราก็ยังอยู่ได้ แล้วเราเอากำไรไปช่วยคน และกำไรเราก็เพิ่มด้วย
ทั้งนี้ ธุรกิจเล็กที่เป็นธุรกิจช่วยคน อาจดูไม่มากในแง่มูลค่าของสินเชื่อ แต่จำนวนหัว หลายล้านคนมาก ที่เราช่วยได้ แน่นอนว่าเขากู้ทีละ 1 หมื่น 2 หมื่น 3 หมื่น หรือเป็นงานพัฒนาสร้างอาชีพ งานพัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในพอร์ตสินเชื่อ ถ้าวัดในพอร์ตสินเชื่อ แน่นอนว่าไซส์ไม่ใหญ่ แต่ช่วยคนได้หลายๆล้านคน นี่คือธุรกิจเรา เราปักธงแค่ 2 ตัวของ UN คือ แก้ปัญหาความยากจน (no poverty) และบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ (reduce Inequality)” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย ยังยกตัวอย่างธุรกิจของธนาคารออมสินที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของคนฐานราก เช่น การเข้าไปแข่งขันในธุรกิจที่มีดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ซึ่งลดดอกเบี้ยได้ 10% หรือลดจาก 28% เหลือ 18% ภายใน 2 ปี ช่วยเหลือคนได้ 5 ล้านคน และการเข้าไปสร้างอาชีพให้คนกว่า 4 แสนคนในช่วง 3 ปี เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา ธนาคารฯมีโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคมไปทั้งสิ้น 63 โครงการ ซึ่งช่วยเหลือคนได้ถึง 17 ล้านคน
“ลูกค้าที่เป็นคนฐานรากที่เป็นคนจน เดิมเคยมีอยู่ 1.59 ล้านคน ตอนนี้เพิ่มขึ้นมา 2 ล้านคน เป็น 3.5 ล้านคน และเรามั่นใจว่าดอกเบี้ยของเราต่ำที่สุด ต่ำแบบไม่มีกำไรเหลือเลย นโยบายของกรรมการ คือ ภารกิจส่วนนี้ ไม่ต้องการเอากำไร เพราะเรามีกำไรจากธุรกิจส่วนใหญ่มาหล่อเลี้ยง เรามีคุณภาพหนี้ที่ดีของธุรกิจใหญ่มาหล่อเลี้ยง NPL ธุรกิจเล็ก ทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีมาก NPL ของออมสินมีไม่ถึง 3% กำไรปีนี้สูงสุดและสูงกว่าช่วงโควิด” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวด้วยว่า ในปีที่แล้วได้ให้นโยบายเรื่อง Social mission integration คือ ให้คนที่ดูแลทุกผลิตภัณฑ์และกระบวนการสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อ สินเชื่อ เงินฝาก และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องนำปัจจัยด้านสังคมใส่เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจทั้งหมด และวันนี้เรื่อง Social mission integration ได้ถูกขยายผลไปเป็นเรื่อง CSV (creating shared value) โดยสิ่งที่ธนาคารกำลังจะทำต่อไป คือ การเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank
“สิ่งที่กำลังจะทำต่อไป และหวังว่าจะได้รับใบอนุญาตต้นปีหน้า คือ เรื่อง Non-Bank ถ้าเราสามารถทำสำเร็จ เราจะดึงคนที่มีความเสี่ยงสูงๆเข้าสู่ระบบ ด้วยดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ยลงมา เขาไม่ไปนอกระบบ หรือแทนที่เขาจะโดนดอกเบี้ย 33% ต่อปี (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) จะลดเหลือ 30% หรือ 28% ตามเกณฑ์ risk based pricing ซึ่งช่วยคนได้ และเราก็มีกำไรด้วย นี่คือโอกาสขยายธุรกิจโดยเอาปัญหาทางสังคมเข้ามา” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2566 ธนาคารฯคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท หลังจากในช่วง 10 เดือนของปีนี้ ธนาคารฯมีกำไรสุทธิ 31,909 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารฯก็ต่ำกว่าหลายธนาคาร รวมทั้งยังมีการตรึงดอกเบี้ยไว้จนถึงสิ้นปีนี้ด้วย นอกจากนี้ ธนาคารฯมีเงินสำรองฯรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร โดยทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการทำในเรื่อง CSV