สภาผู้บริโภคลงพื้นที่พร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคซื้อบ้านแล้วชำรุดในหมู่บ้านจัดสรรย่านลาดกระบัง หลังแจ้งโครงการให้ซ่อมแล้ว แต่แก้ไขไม่ตรงจุด ไม่รับผิดชอบ ผลักภาระ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ลงพื้นที่หมู่บ้านสุวรรณภูมิทาวน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจปัญหาความชำรุดและบกพร่องของบ้านที่อยู่อาศัยย่านลาดกระบัง ตามที่คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค) ได้ส่งหนังสือเชิญสภาผู้บริโภคร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนของผู้บริโภค ร่วมกับผู้แทน กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานที่ดินและสำนักงานเขตลาดกระบัง
เบญจา โชคอำไพ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย เปิดเผยว่า ตอนที่ซื้อบ้านโครงการหมู่บ้านสุวรรณภูมิทาวน์ ตรวจสอบและพบปัญหาหลายประเด็นก่อนการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท่อระบายน้ำกลับไม่สามารถระบายน้ำได้ หลังคารั่ว น้ำรั่วซึม แต่โครงการฯ ได้แนะนำให้โอนกรรมสิทธิ์ก่อน เนื่องจากมีประกันความเสียหายระยะเวลา 1 ปี ตนเองจึงยอมโอนกรรมสิทธิ์ และเมื่อดำเนินการต่าง ๆ แล้ว โครงการฯ กลับไม่แก้ไขปัญหาอย่างละเอียดให้และปัญหาข้างต้นกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“ทุกครั้งที่แจ้งให้โครงการฯ เข้ามาซ่อมแซม ช่างของโครงการฯ กลับสร้างความเสียหายกับของภายในบ้านของเราชำรุด เช่น ซ่อมหน้าต่างแต่ทำผ้าม่านเสียหาย เนื่องจากช่างไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน และเราได้แจ้งโครงการฯ ไป แต่กลับบ่ายเบี่ยงและบอกว่าไม่มีช่างมาแก้ไขให้ เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ขณะที่ในสัญญาระบุไว้ว่าจะมีช่างมาซ่อมแซมให้ภายในระยะเวลา 30 วัน แต่ในหลาย ๆ ครั้ง มักเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด” เบญจา ระบุ
นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภครายนี้ติดต่อกับเพื่อนบ้านก็พบปัญหาแบบเดียวกันจำนวนมาก และในหลาย ๆ หลังพบปัญหาที่หนักกว่า อาทิ บ้านร้าวหนัก บ้านทรุด ฝ้าถล่ม อีกทั้งผู้บริโภคยังตั้งข้อสังเกตว่าโครงการฯ อาจสร้างบ้านไม่ตรงแบบแปลนและอาจใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ ทั้งนี้ ผู้บริโภคได้เข้าร้องเรียนกับ สคบ. ก่อนที่จะหมดอายุประกันความเสียหาย ซึ่ง สคบ.ได้เรียกผู้ประกอบการและผู้บริโภคเข้าไปไกล่เกลี่ยแต่เจ้าของโครงการฯ ไม่ยอมรับผิดชอบทั้งหมด ทำให้การไกล่เกลี่ยไม่เป็นผล ต่อมา สคบ. จึงแจ้งผู้บริโภคว่ากรณีลักษณะนี้ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้แล้ว จึงได้ขอให้ผู้บริโภคเขียนยกเลิกและเขียนแจ้งว่าผู้เสียหายยอมที่จะไปฟ้องร้องด้วยตนเอง เมื่อพบกับเหตุการณ์นี้จึงรู้สึกเสียใจและผิดหวังที่ สคบ. ไม่สามารถให้เจ้าของโครงการแก้ไขได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในระยะประกัน และในขณะนั้นผู้เสียหายไม่มีความรู้ด้านกฎหมายที่มากพอจึงยอมเขียนยกเลิกไป
ในเวลาต่อมาผู้เสียหายได้แจ้งไปที่ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค และได้ประสานแต่ละหน่วยงานให้เข้ามาช่วยเหลือ อาทิ สคบ. สำนักงานเขตลาดกระบัง โดยในขณะนั้นสำนักงานเขตฯ ได้เข้ามาตรวจสอบและพบว่า มีหลายรายการยังไม่อยู่ในสภาพเรียบร้อย อาทิ หลังคา รอยรั่วที่ผนัง ปัญหาท่อระบายน้ำ พื้นทรุดจากการก่อสร้าง และบางรายการไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันการซ่อมแซมได้จนกว่าจะผ่านฤดูฝนไป นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาได้เสนอแนะให้เจ้าของโครงการฯ แก้ไข แต่โครงการฯ ยังปฏิเสธการแก้ไข
“อยากเตือนผู้บริโภคทุกคนที่กำลังจะซื้อบ้าน อย่าลืมถ่ายวิดีโอไว้ขณะตรวจสอบบ้าน เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน หากมีปัญหาในอนาคต เจ้าของโครงการฯ จะพูดไม่ได้ว่าเราไม่มีหลักฐาน และข้อสำคัญห้ามโอนกรรมสิทธิ์บ้านหากไม่มั่นใจ อย่ารีบร้อนและอย่าไว้ใจนายหน้าขายบ้านเด็ดขาด” เบญจา กล่าว
ด้าน โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากสภาผู้บริโภคได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค และเมื่อมีผู้ร้องมาร้องเรียนปัญหาบ้านชำรุดบกพร่องกับกมธ.ดังกล่าว จึงเชิญสภาผู้บริโภคร่วมลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกร้องเรียน ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันนั้นพบว่ามีผู้เสียหายจำนวน 10 กว่ารายจากโครงการฯ แห่งนี้ เบื้องต้นสภาผู้บริโภคได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับเบญจา โชคอำไพ และผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากหมู่บ้านสุวรรณภูมิทาวน์ เขตลาดกระบัง และอาจดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อน หากผู้เสียหายไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการคู่กรณีได้ สภาผู้บริโภคมีความเห็นควรดำเนินการรวมกลุ่มผู้เสียหายเพื่อพิจารณาข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายทุกราย และจะเข้าช่วยเหลือในการฟ้องร้องดำเนินคดีให้ต่อไปอย่างเต็มที่
หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว สามารถร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคตามช่องทางดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]