สหภาพ ขสมก. ออกแถลงการณ์ จี้รัฐบาลยกเลิกมติครม. 27 ก.ย. 59 ที่ให้ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในเขตกทม.-ปริมณฑล ทิ้ง หลังประชาชนประสบปัญหารถเมล์ที่ ขสมก.เคยเดินรถ รอนานกว่าเดิมหลังเอกชนมาเดินรถแทน จ่อนัด 10 พ.ย.นี้ประชุมท่าทีสหภาพฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 รายงานข่าวระบุว่า หลังจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางเดิมของ ขสมก. ที่ทับซ้อนกับเส้นทางของผู้ประกอบการเดินรถเอกชนตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และคืนใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้นายทะเบียนกลาง จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. สาย ปอ. 8 เส้นทาง สะพานพระพุทธยอดฟ้า - เคหะชุมชนร่มเกล้า 2. สาย ปอ.34 เส้นทาง รังสิต - หัวลำโพง 3. สาย ปอ.39 เส้นทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4. สาย ปอ.140 เส้นทาง แสมดำ - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ5. สาย ปอ.517 เส้นทาง หมอชิต 2 - ศูนย์การค้าเทิดไท โดยมีผลไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 5 สายทางมีบจ.ไทย สมายล์ บัส (TSB) เป็นผู้เดินรถแทน
อย่างไรก็ตาม จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถ ทำให้มีผลกระทบในการให้บริการรถเมล์สาย 140 เนื่องจากจำนวนรถมีไม่เพียงพอกับการให้บริการ และในชั่วโมงเร่งด่วนประชาชนต้องรอรถนานกว่าปกติ
ที่มา: Facebook BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ที่มา: Twitter FM91 Trafficpro
@รัฐ-เอกชน ประสานเสียง เพิ่มรถให้พอ
ล่าสุด นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รับทราบเรื่องดังกล่าว และได้แจ้งไปยัง นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
ด้าน นายสุรพงษ์ ในฐานะผู้กำกับดูแล กรมการขนส่งทางบก ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก ประสานงานแก้ไขปัญหากับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานเดินรถในเส้นทางดังกล่าวที่ขาดระยะ ซึ่งได้สั่งการให้เพิ่มจำนวนรถจากเดิม 19 คัน เป็น 34 คัน และปรับแผนการเดินรถให้ถี่ขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนทุก ๆ 5 นาที ในช่วงเวลา 06.20 - 08.30 น. และ 5 - 7 นาที ในช่วงเวลา 15.30 - 18.00 น. เพื่อรองรับผู้โดยสารในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ส่วนเอกชนคือบจ. ไทย สมายล์ บัส ออกหนังสือชี้แจงเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขในวันถัดมา คือ วันที่ 1 พ.ย. 66 โดยวางแผนการปล่อยรถเพิ่มขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนทั้ง 2 รอบ ส่งผลให้มีความถี่ในการให้บริการมากขึ้น และครอบคลุมการให้บริการทั้งวันอีกด้วย ช่วงเวลาปกติได้กำหนดระยะเวลาการปล่อยรถออกจากอู่ต้นทางเฉลี่ยทุก 10 นาที ส่วนรอบการให้บริการของรถเมล์โดยสารพลังงานไฟฟ้า ทาง ไทย สมายล์ บัส จะดำเนินการเพิ่มรถ เพิ่มรอบการให้บริการต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์นี้จนถึงวันจันทร์ที่ 6 พ.ย. 66 เป็นต้นไป รถในสายดังกล่าวจะรถวิ่งเฉลี่ยให้บริการมากกว่า 136 เที่ยว/วัน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ไทย สมายล์ บัส จะมีรถให้บริการเพียงพอ
@สหภาพ ขสมก. แถลงการณ์ยกเลิกปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ปี 59
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง ให้ยกเลิกการปฏิรูปเส้นทางที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ความว่า
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 โดยให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีอำนาจควบคุมดูแลการเดินรถในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นผู้มีอำนาจในเส้นทางสัมปทานเดินรถทั้งหมดที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้ ขบ.เป็นผู้ควบคุมดูแลแทน ตามความทราบแล้ว นั้น
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยมีวัตถุประสงค์รักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด กล่าวคือ
1. ขสมก.จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจกาสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีภารกิจบริการจัดรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในขอบเขตความรับผิดชอบกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด (ปริมณฑล) มีวัตถุประสงค์ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไรจากการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุนตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด
2. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ขสมก.ยุติการให้บริการรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 5 เส้นทาง ตามที่กรมการขนส่งทางบก มีหนังสือถึง ขสมก. และให้ ขสมก.ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางของ ขสมก.ที่มีเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อน กับเส้นทางเดินรถของเอกชน ตามแผนปฏิรูปเส้นทาง
3. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ครม.มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และเสนอร่างกฎหมาย จำนวน 4 ฉบับ มิให้ ขสมก. กำกับดูแลเส้นทางสัมปทานทั้งหมด ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
4. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ทำหนังสือคัดค้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารในอนาคต แต่ก็มิได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในสมัยนั้นแต่ประการใด ทำให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น โดยมิได้มีอำนาจใดๆ ในการบริหารเส้นทางเดินรถ
5. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เห็นว่าควรยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่นำไปสู่การปฏิรูปเส้นทาง เมื่อปี 2560 และการประมูลเส้นทางเดินรถ จำนวน 54 เส้นทาง ในปี 2563 ซึ่งปัจจุบับ ขบ. ได้อนุมัติเส้นทางปฏิรูปให้เอกชนไปแล้ว จำนวน 77 เส้นทาง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาประมูลเส้นทางเดินรถในสายต่างๆ ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารได้รับผลกระทบในการเดินทาง ไม่มีรถโดยสารเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างเช่น สาย 140 และสายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในการปฏิรูปเส้นทาง
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อกำหนดทิศทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ใช้บริการรถโดยสารผู้มีรายได้น้อย กรณีรถโดยสารขาดระยะไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ
จึงแถลงการณ์มาให้สมาชิกสหภาพแรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชน ได้รับทราบโดยทั่วกัน
ที่มาภาพปก: ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC1111)