กสม.แถลงข่าวชี้ สตม.ละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ หลังรับเรื่องร้องปมคุมตัวไว้โดยไม่มีกำหนดปล่อยตัว เป็นเหตุให้ผู้ถูกขังป่วยจนเสียชีวิต จี้สภาความมั่นคงแห่งชาติหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหา-ชี้ชัดโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ คณะแพทยศาสตร์ มช. ส่งผลกระทบต่อชุมชน จี้ สผ.เชียงใหม่ตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 11.45 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ กรณี สตม. ควบคุมตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีกำหนดปล่อยตัว กระทั่งเจ็บป่วยและเสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า นายอาซิซ อับดุลลาห์ (Mr. Aziz Abdullah) ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 49 ปี เสียชีวิตในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) (ผู้ถูกร้อง) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยก่อนจะเสียชีวิต นายอาซิซได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องทราบว่ามีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยหอบ จึงขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ได้รับการปฏิเสธ นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ยังปรากฏกรณีนายมูฮัมหมัด คุรบาน (Mr. Muhammed Kurban) อายุ 40 ปี เสียชีวิตในห้องกักของผู้ถูกร้องเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนที่จะเสียชีวิต นายมูฮัมหมัดมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้ร้องเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการกักขังเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดระยะเวลา สภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารไม่เพียงพอ ต้องอยู่ในห้องกักตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมเพียงพอ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า สิทธิการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองความเสมอภาคของบุคคลไว้ โดยรัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนภายในประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด ๆ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นการเสียชีวิตของผู้ต้องกักทั้งสอง ปรากฏว่า กรณีนายอาซิซ แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากปอดอักเสบติดเชื้อ ส่วนกรณีนายมูฮัมหมัด แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว สอดคล้องกับข้อมูลของแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ โดยกรณีนายอาซิซ แม้จะตรวจพบบาดแผลภายนอกร่างกาย แต่คาดว่าเกิดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่พบได้ ส่วนที่พบว่ามีกระดูกซี่โครงหักหลายตำแหน่ง น่าจะเกิดจากการช่วยชีวิต ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้ต้องกักทั้งสองเกิดจากการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกร้อง
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าผู้ต้องกักทั้งสองรายเสียชีวิตในวันเดียวกันกับที่แสดงอาการเจ็บป่วย โดยสาเหตุการเสียชีวิตอาจแสดงให้เห็นว่ามีข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ต้องกักหลายประการและมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เช่น ผู้ต้องกักไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่ครบถ้วนเพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ก่อนถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่กับผู้ต้องกักสื่อสารกันได้ไม่ดีพอ การขาดเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับให้การรักษาเบื้องต้น เกิดภาวะการระบาดของโรคที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบเหตุ เป็นต้น
สำหรับประเด็นห้องกักมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม เกิดจากการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งปัจจุบัน สตม. ได้เสนอของบประมาณเพื่อก่อสร้างสถานกักตัวแห่งใหม่ให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นและรองรับผู้ต้องกักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือไม่ เมื่อใด ส่วนประเด็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข สตม. ได้ให้บริการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่มีอยู่ ตลอดจนมีระบบส่งต่อผู้ต้องกักที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีการคัดกรองสุขภาพก่อนเข้ากักตัวแล้ว แต่ยังพบข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น ขาดแคลนงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ผู้ต้องกักเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่มีญาติหรือสถานทูตให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย แพทย์ที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานภายนอกจะเข้ามาให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ผู้ต้องกักมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคทางจิตเวชสูงขึ้นแต่ยังไม่มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
กสม. เห็นว่า ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและเต็มไปด้วยข้อจำกัด อันก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิดและเชื้อชาติ โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อกับญาติ บุคคลภายนอก หรือหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน ซึ่งแตกต่างจากผู้ต้องกักทั่วไป รวมทั้งไม่มีแนวโน้มที่จะถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากนโยบายด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังไม่ชัดเจนและไม่มีกำหนดเวลาดำเนินการที่จริงจัง ในชั้นนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไว้ที่ สตม. เป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดที่จะปล่อยตัวหรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานของสหประชาชาติ เร่งหามาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรม รวมถึงระยะเวลาที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่อยู่ในความดูแลของ สตม. ออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศที่สามที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต แล้วเสนอผลสรุปจากการหารือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งแก้ไขปัญหาห้องกักของ สตม. ที่มีความแออัดและสภาพทรุดโทรม โดยระยะสั้น ให้ปรับปรุง ทำความสะอาด และจัดระเบียบของห้องกักให้มีสภาพที่ดีขึ้น ระยะยาว ให้เร่งรัดการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสถานกักตัวคนต่างด้าวแห่งใหม่ และให้สนับสนุนสิ่งจำเป็นต่อการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและงบประมาณให้เพียงพอต่อภารกิจ รวมถึงหามาตรการรองรับแนวโน้มจำนวนผู้ต้องกักที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชด้วยการจัดให้มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำอย่างสม่ำเสมอด้วย
2. กสม. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ คณะแพทยศาสตร์ มช. ส่งผลกระทบต่อชุมชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาความเสียหายและกำกับดูแลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนถนนสิโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า โครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข พร้อมที่จอดรถ 9 ชั้น (Medical Hub) ของ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาแห่งหนึ่งก่อสร้างอาคารมาตั้งแต่ปี 2562 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชนถนนสิโรรส ชุมชนเชียงคำ และชุมชนสวนดอก กว่า 400 ครัวเรือน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม และในกรณีรัฐจะดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม จะต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และต้องมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและไม่ชักช้า ทั้งยังรับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพอีกด้วย
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การก่อสร้างโครงการของคณะแพทยศาสตร์ มช. มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนถนนสิโรรส มาตั้งแต่ปี 2563 เช่น ผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินกิจกรรมก่อสร้าง ฝุ่นละออง สิ่งของตกหล่น แรงสั่นสะเทือนที่ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย น้ำฝนและน้ำจากกระบวนการก่อสร้างที่ไหลออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น
แม้คณะแพทยศาสตร์ มช. ในฐานะเจ้าของโครงการ จะชี้แจงว่า ได้ดำเนินการควบคุมกำกับการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมาให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดแต่การควบคุมกำกับนั้นอาจไม่เพียงพอและไม่มีความพยายามที่จะดำเนินการตามหน้าที่ของรัฐในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและไม่ชักช้า นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การก่อสร้างโครงการโดยบริษัทผู้รับเหมา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนถือเป็นกรณีที่เอกชนมิได้ดำเนินการตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ที่กำหนดหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน
ซึ่งแม้บริษัทจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาบางส่วน เช่น ซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย และกำชับและควบคุมการทำงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นอีก
ดังนั้น การก่อสร้างโครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ ของคณะแพทยศาสตร์ มช. จึงมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินในอันที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของตน และเป็นการละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อชุมชน ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการก่อสร้างโครงการ
แต่พบว่า เทศบาลนครเชียงใหม่มิได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีเพียงหนังสือแจ้งกำชับให้คณะแพทยศาสตร์ มช. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประกาศเทศบาลนครเชียงใหม่เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างฯ พ.ศ. 2534 เท่านั้น
โดยไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับดูแลการก่อสร้าง ทั้งยังไม่เร่งวางแผนหรือดำเนินการให้มีระบบระบายน้ำเพื่อรองรับการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน จึงเห็นว่า เทศบาลนครเชียงใหม่มีการกระทำหรือละเลยการกระทำในการกำกับดูแลการก่อสร้าง จนส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนของชุมชนโดยรอบ
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่24 ตุลาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้คณะแพทยศาสตร์ มช. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ สำรวจ แก้ไข ชดเชยเยียวยาความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและสุขภาพอนามัยของประชาชนจากการก่อสร้างโครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ โดยให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ควบคุมกำกับการก่อสร้างโครงการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องจนกว่าจะไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง รวมทั้งเร่งรัดการวางแผนงานและจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดทำระบบระบายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนถนนสิโรรสทั้งหมดก่อนการเปิดใช้อาคารด้วย
(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะแพทยศาสตร์ มช. จังหวัดเชียงใหม่ และ สผ. สำรวจและแก้ไขหรือจัดทำแผนการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะเปิดใช้โครงการ เช่น แสงสะท้อนจากกระจกอาคาร ฝุ่นควันจากอาคารจอดรถ ปัญหาการจราจร และให้ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สำรวจผลกระทบจากอาคารของโครงการที่อาจบดบังทิศทางลมและแสงแดดต่อบ้านเรือนของผู้ร้องที่อยู่ติดกับแนวเขตโครงการ
หากพบว่าอาคารก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ จะต้องดำเนินการชดเชยหรือเยียวยาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ให้ สผ. ตรวจสอบการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทผู้รับเหมาว่าเป็นการจัดทำรายงานที่ตรงกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
นอกจากนี้ ให้บริษัทผู้รับเหมานำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ไปปรับใช้กับการประกอบธุรกิจและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการด้วย
(3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้ สผ. นำกรณีตามเรื่องร้องเรียนนี้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยการกำหนดให้ในรายงานต้องประกอบด้วยการสำรวจความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อโครงการในระยะการก่อสร้าง และให้ปิดประกาศรายงานดังกล่าวไว้ในสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้