‘จุลพันธ์’ นำแถลงดิจิทัลวอลเลต ย้ำอีกไม่เลิก คนต่างจังหวัดรอเยอะ ส่วนที่คัดค้านมองในแง่ดี สร้างบรรยากาศวิจารณ์หลังหายไป 10 ปี ระบุได้ประโยชน์ รัฐบาลได้เงินภาษีกลับคืน หวังดันเศรษฐกิจโต 5% ส่วนที่มาของเงินยังต้องใช้เวลาพิจารณา กางปฏิทินประชุมอีก 2 รอบ ก่อนบอร์ดชุดใหญ่นัดถก 24 ต.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าในการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นมานาน ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ห่างหายเป็น 10 ปี ในรัฐบาลก่อนหน้า
ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ยังไม่ได้เติบโตเต็มศักยภาพ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบาย จะประสบผลสำเร็จ
“รัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Gorvernment ในอนาคต เราเดินหน้าทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน และ รัฐสภาที่ได้แถลงไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 5% ในระยะ 3-4 ปีหน้า” รมช.คลังกล่าว
@ประชาชนรอคอยอย่างมีหวัง
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มีคำถามจากประชาชนหลายข้อ ว่าทำไมต้องมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะไทยมีปัญหาสะสม คนไทยยากลำบาก ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการไปถามประชาชน ร้อยทั้งร้อย ในต่างจังหวัด รอมาตรการนี้อย่างมีความหวัง แต่ก็รับฟังข้อเสนอแนะให้รอบด้าน ยืนยันว่าเสียงสะท้อนจากการเลือกตั้ง ชัดเจนว่าตัองเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้ 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะ จาก 40% ต่อจีดีพี เป็น 60% เป็นสถานการณ์เปราะบาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขนาดนี้ จึงเป็นการสตาร์ตชีวิตของประชาชน
ส่วนที่มีการกล่าวว่ามาตรการดังกล่าว เป็นคริปโต เคอเรนซี่ จะมีการซื้อตุนไว้ ขอชี้แจงว่า ไม่ใช่การเสกเงินขึ้นมาใหม่ เงินทุกบาทยังเป็นไปตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ใช่พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ หรือเขียนโปรแกรมมาใหม่ ไม่มีปรับมูลค่า แบคอัพบาทต่อบาท แต่ใช้ในบาทดิจิทัล ที่ถูกกำหนดเงื่อนไขการใช้ ให้มีมูลค่าเศรษฐกิจมากที่สุด
เช่น ใช้ภายในระยะเวลา 6 เดือน กำหนดระยะทาง กำหนดประเภทห้ามใช้ จึงตอบได้ว่านโยบายนี้มีประสิทธิภาพกว่านโยบายอื่น ๆ ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถนำไปสู่การออม นำไปใช้หนี้สิน แต่ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย
สำหรับเงิ่อนไขที่กำหนดรัศมีที่ใช้ใน 4 กิโลเมตร เป็นอำนาจคณะอนุกรรมการกำหนดเงิ่อนไขดังกล่าวอีกครั้ง และมีความเป๋นไปได้มีความขยายกรอบให้เกิดความคล่องตัว อาจเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
@ยังอุบแหล่งที่มาของเงิน
ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงิน รมช.คลังระบุว่า ต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่รัฐบาลจะยึดมั่นในวินัยการเงินการคลัง โดยยึดมั่นมาตลอด ซึ่งจากประสบการณ์พรรคเพื่อไทย เห็นชัดเจนว่า สามารถชำระหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนเวลา ยึดมั่นสมดุลการคลัง และมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ ได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน ใช้ความยึดมั่นในกรอบการบริหารให้ดีที่สุด
“ถ้ายึดกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยึด 2% ต่อปีเหมือนที่ผ่านมา ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในการหาจุดสมดุล ในการเติบโตที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้า”
รมช.คลัง ยืนยันว่า จะฟังเสียงทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการที่สนับสนุน หรือคัดค้าน ภาคเอกชนที่รอคอยด้วยความหวัง ก็จะนำความเห็นทั้งหมดไปหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ ฟังความเห็น ประชาสัมพันธ์ทุกอย่างภายในสิ้นเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนครั้งแรก มาหารือความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการ และมอบหมายคณะอนุกรรมการ ไปหารือประเด็นต่าง ๆ จากนั้น 19 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการเป็นครั้งที่ 2 หารือ ก่อนเข้าชุดใหญ่ และวันที่ 24 ต.ค.เสนอเข้า คณะกรรมการใหญ่ มีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร เป็นการตัดสินใจชุดใหญ่ต่อไป
ที่มาข่าว: ไทยโพสต์
ที่มาภาพ: กระทรวงการคลัง