‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้อง คดี ‘สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน-พวก’ ฟ้องให้เพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมทางบก ‘บ.ซ่านซี เหยียนฉางฯ’ ที่ จ.บุรีรัมย์ เหตุยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เพราะ ‘ผู้ฟ้องคดี’ ไม่เคยมีหนังสือแจ้ง อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ-รมว.พลังงาน-คณะกรรมการปิโตรเลียม’ ว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส.40/2557 หมายเลขแดงที่ ส.745/2559 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 98 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดียังไม่มีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ,รมว.พลังงาน และคณะกรรมการปิโตรเลียม) จึงไม่ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด)
“...คดีนี้ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ,รมว.พลังงาน และคณะกรรมการปิโตรเลียม) ได้ให้สัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553/108 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ว่าจ้างบริษัท บีจีพี อินท์ ไซน่า เนชั่ลแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ทำการสำรวจปิโตรเลียมด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L31/50 รวมพื้นที่สำรวจ 118.44 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลหัวฝ่าย ตำบลดงพลอง ตำบลแคนดง อำเภอแคนดง พื้นที่ตำบลนิคม เทศบาลตำบลดอนมนต์ ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก ตำบลโนนขวาง อำเภอบ้านด่าน และพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
อันเป็นพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 98 ประกอบอาชีพและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยในการสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องหลายประการ เช่น มีการบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด มีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหลายฉบับ เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติงานปีโตรเลียมที่ดี
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้รับสัมปทาน) กลับละเลยปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กระทำการดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
เมื่อพิจารณาคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดแล้ว เห็นว่า แม้มาตรา 22 มาตรา 51 มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.พลังงาน) มีอำนาจหน้าที่ในการให้สัมปทาน หรือเพิกถอนสัมปทาน และกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติตามข้อผูกพัน สำหรับการสำรวจปีโตรเลียมตามที่กำหนดในสัมปทาน หรือให้ปฏิบัติตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี หรือให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัมปทานโดยคำแนะนำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการปิโตรเลียม) ก็ตาม
แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการทั่วไป ซึ่งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ จะต้องปรากฎข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมตามที่กำหนดในสัมปทานหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัมปทานว่าเป็นเหตุเพิกถอนสัมปทานได้
หากผู้ฟ้องคดี ทั้งเก้าสิบแปดเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ได้ดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปด ก็ชอบที่จะแจ้งเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ได้รับนั้น ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และหามาตรการเพื่อแก้ไขเยียวยาต่อไป
แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปด ได้มีหนังสือร้องขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพื่อแจ้งเรื่องการดำเนินการสำรวจปีโตรเลียมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำฟ้อง เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดแต่ประการใด
กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่า มีข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อันเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปด ไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ว่าจ้างให้บริษัท บีจีพี อินท์ ไซน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ โดยมีการบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น
เห็นว่า หากผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้เข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีรายใด แล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นใดในที่ดินนั้น มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันถึงจำนวนค่าเสียหายได้ ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ตามมาตรา 67 วรรคสาม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514
ประกอบกับผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ไม่ได้แจ้งเรื่องการได้รับความเสียหายจากการสำรวจปิโตรเลียมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบแต่ประการใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าคดีนี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลปกครองสูงสุดจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดอุทธรณ์ ทั้งนี้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดในประเด็นนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า คดียังไม่มีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าสิบแปดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยต้องเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อส.4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อส.204/2566 ลงวันที่ 8 ส.ค.2566 ระบุ
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์แก่บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ซึ่งทำการสำรวจทางธรณีวิทยาด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ โดยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น การเกิดหลุมลึก ทำให้พืชผลเสียหาย และมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้รับจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้เข้าทำการสำรวจปิโตรเลียมที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในพื้นที่หมู่บ้านที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 98 อยู่อาศัย
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 98 จึงไม่ควรจะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 กรณีการสำรวจปิโตรเลียมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้ได้รับสัมปทาน และไม่มีสิทธิฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีไปด้วยตามหลักผู้รับมอบอำนาจไม่มีสิทธิดีกว่าผู้มอบอำนาจ
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 98 คน ไม่ได้ระบุหรือแสดงหลักฐานว่ามีการเข้าสำรวจปิโตรเลียมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือราษฎรรายใด ศาลจึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี ตามนัยของมาตรา 51 (5) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือไม่ และต้องถือว่าไม่มีเหตุตามคำฟ้องที่จะเพิกถอนสัมปทานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามกฎหมายดังกล่าวได้
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ดำเนินการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ เสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่ได้ทำการสำรวจในพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 98 อาศัยอยู่ จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องกำหนดคำบังคับขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียุติ ระงับ หรือเพิกถอนการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ เก็บกู้วัตถุระเบิด หรือดำเนินการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำสัญญากับประชาชนเพื่อรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว