กสม.แถลงข่าวแจงยังไม่พบหลักฐานชัดเจนปมผู้คุมนักโทษสั่งยึดยานักโทษซึมเศร้า จี้ราชทัณฑ์ล้อมคอกหลังมีเหตุพยาบาลใช้คำไม่สุภาพเป็นการไม่คำนึงสิทธิผู้ต้องขัง อัปเดตข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน-เผยผลประชุมร่วมสถาบันสิทธิอาเซียน เร่งผลักดันสนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 32/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเจ้าหน้าที่เรือนจำละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ต้องขังป่วย แนะกรมราชทัณฑ์ประกันสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเพชรบุรี เมื่อเดือนธันวาคม 2565 กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ต้องใช้ยารักษาเป็นประจำทุกวัน
เมื่อปี 2564 ผู้ร้องถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเพชรบุรี ภรรยาของผู้ร้องได้นำยารักษาโรคซึมเศร้าจากโรงพยาบาลมาให้ผู้ร้อง แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางเพชรบุรี
(ผู้ถูกร้อง)ได้ยึดยาดังกล่าวไว้ทั้งหมด ต่อมาผู้ร้องมีอาการหูแว่ว คลุ้มคลั่ง และทำร้ายตัวเอง จึงขอยาระงับอาการดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธ และพยาบาลของเรือนจำกลางเพชรบุรีใช้ถ้อยคำหยาบคายตะโกนต่อว่าผู้ร้อง และนำยาชนิดหนึ่งมาฉีดเข้าร่างกายซึ่งไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าเป็นยาชนิดใด โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อฉีดยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผู้ร้องจนหมดสติไปหลายวัน ปัจจุบันผู้ร้องได้จำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษาของศาลแล้ว แต่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7 การทรมาน หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้
โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังนั้น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rules) วางหลักไว้ว่า ระบบราชทัณฑ์ต้องประกอบด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะให้นักโทษกลับตัวและฟื้นฟูทางสังคม การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ
โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน เรือนจำทุกแห่งพึงมีสถานบริการรักษาพยาบาล อันมีหน้าที่ประเมิน ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อผู้ต้องขังที่ต้องการการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หรือมีปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อการบำบัดฟื้นฟูของตน
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง กรณีไม่อนุญาตให้นำยารักษาโรคประจำตัวเข้าเรือนจำ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และทำร้ายร่างกายผู้ร้องหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าผู้ร้องได้นำยารักษาโรคติดตัวมา ณ วันที่ถูกคุมขัง
และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่อนุญาตให้นำยารักษาโรคประจำตัวเข้าเรือนจำตามที่กล่าวอ้าง ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ร้องนั้น พบว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำใช้กำลังกับผู้ร้องจริง แต่เป็นไปเพื่อควบคุมผู้ร้องให้อยู่ในความสงบเพื่อให้การรักษา เนื่องจากผู้ร้องมีอาการขัดขืนและอยู่ในภาวะที่อาจทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ และยาที่นำมาฉีดให้ผู้ร้องนั้น เป็นยาที่ใช้สำหรับกรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อให้สงบตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำร้ายร่างกายผู้ร้อง
สำหรับกรณีที่ผู้ร้องระบุว่าพยาบาลของเรือนจำใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อผู้ร้อง ปรากฏว่า พยานบุคคล 2 ราย ที่ผู้ร้องอ้างประกอบการร้องเรียนให้ข้อเท็จจริงไปในทางเดียวกันว่า ได้ยินเสียงพยาบาลของเรือนจำใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อผู้ร้องซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของกรมราชทัณฑ์ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า เป็นการปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้กองบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งการให้เรือนจำกลางเพชรบุรีกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกคน โดยภายหลังพยาบาลรายดังกล่าวได้ย้ายไปสังกัดที่เรือนจำจังหวัดอื่นแล้ว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้กำชับไปยังเรือนจำจังหวัดดังกล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง ให้กระทำด้วยกิริยาวาจาที่เหมาะสมไม่เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามและประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ในความควบคุม รวมทั้งให้ยึดถือและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดไว้โดยเคร่งครัดต่อไปแล้ว จึงถือเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ดี กรณีการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีที่กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่พยาบาลของเรือนจำกลางเพชรบุรีให้ยาแก่ผู้ร้อง แต่ไม่ได้มีการบันทึกการรักษาพยาบาลตั้งแต่แรกโดยอ้างข้อจำกัดด้านการติดต่อประสานงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 และเริ่มมาบันทึกข้อมูลในระบบหลายเดือนให้หลัง นอกจากเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0705.4/326 ลงวันที่ 3 มกราคม 2562 เรื่อง กำชับการดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วยตามแนวทางปฏิบัติที่กรมราชทัณฑ์กำหนดแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยให้แก่ผู้ต้องขังรายอื่น อันเนื่องมาจากการบันทึกข้อมูลในระบบที่ไม่เป็นปัจจุบัน
จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ กรณีโรงพยาบาลแก่งกระจานไม่สามารถจ่ายยารักษาโรคซึมเศร้าให้แก่ผู้ร้องขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้ในทันที เนื่องจากสิทธิการรักษาของผู้ร้องที่เป็นสิทธิประกันสังคมอยู่นอกเขตพื้นที่ จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน โรงพยาบาลแก่งกระจานจึงจ่ายยาให้กับผู้ร้อง แม้เรือนจำกลางเพชรบุรีจะแก้ไขปัญหาระหว่างที่ยังไม่ได้รับยาของโรงพยาบาลแก่งกระจานด้วยการนำยารักษาอาการโรคซึมเศร้าที่มีอยู่ในคลังยาของสถานพยาบาลเรือนจำไปจ่ายให้แก่ผู้ร้อง แต่อาจมีผู้ต้องขังรายอื่นในเรือนจำหรือทัณฑสถานแห่งอื่นที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับผู้ร้องด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ต้องขังในภาพรวม เห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กรมราชทัณฑ์เน้นย้ำและกำชับเจ้าหน้าที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ปฏิบัติตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0705.4/326 ลงวันที่ 3 มกราคม 2562 เรื่อง กำชับการดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วยตามแนวทางปฏิบัติที่กรมราชทัณฑ์กำหนด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องบันทึกข้อมูลการให้การรักษาพยาบาลในระบบให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ให้สำนักงานประกันสังคมหารือร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ที่ไม่อาจใช้สิทธิกับสถานพยาบาลที่เรือนจำหรือทัณฑสถานแห่งนั้นตั้งอยู่ในทันที
2. กสม.ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หนุนสมัชชาสหประชาชาติยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ผลักดันให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2566 ตนในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุและการพัฒนาตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุ ร่วมกับผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวม 14 ประเทศ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการรณรงค์และผลักดันการรับรองตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
โดยที่ประชุมเห็นว่า สิทธิของผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยและขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลานานทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งมีข้อถกเถียงที่สำคัญคือ มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีในปัจจุบันนั้นเพียงพอต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกของสหประชาชาติก็ยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจากกลไกต่าง ๆ มีข้อค้นพบในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดและยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุและให้การคุ้มครองผู้สูงอายุในระดับระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมประเด็นเฉพาะที่กลุ่มผู้สูงอายุต้องเผชิญ เช่น การเหยียดอายุ (ageism) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ (age discrimination) ปัญหาความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง การถูกแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สิน และปัญหาการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (long-term care) เป็นต้น
ขณะที่ กรอบพันธกรณีและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ในการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการประกันสิทธิของผู้สูงอายุได้มากยิ่งขึ้น
โดยในการประชุมครั้งนี้ ตนได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในภาพรวมของโลกที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากกว่าอัตราส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และภายในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าอัตราส่วนของผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน เช่น การเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ การไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากต้องพึ่งพิงคนในครอบครัว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ความรุนแรงและการถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ เช่น บริการด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้ และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (completed aged society) ตามข้อมูลทางสถิติที่มีรายงานประชากรอายุเกิน 60 ปี มีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) คือมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในอีกประมาณ 7-8 ปีข้างหน้า
ในขณะที่โครงสร้างสังคมยังมีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวที่อยู่รวมกันขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว บุตรหลานต้องเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้ผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือถูกทอดทิ้ง ทั้งนี้ สิทธิของผู้สูงอายุในประเทศไทยยังมีข้อท้าทายหลายประการ เช่น การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีทำให้เป็นอุปสรรคในการได้รับบริการจากรัฐ หรือสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ยังไม่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
“การประชุมหารือครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญในการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการให้คำแนะนำ และเป็นสะพานเชื่อมภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ กสม. ไทยได้ร่วมเรียกร้องให้เครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชน (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุ และเพิ่มการสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้คณะทำงานด้านผู้สูงอายุของสหประชาชาติ (The UN General Assembly’s Open-ended Working Group on Ageing: OEWGA) มีข้อเสนอแนะไปยังสมัชชาสหประชาชาติให้เริ่มต้นกระบวนการร่างสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันให้สิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนกระแสหลักต่อไป” นายวสันต์กล่าว