ครม.อนุมัติร่างฎกระทรวงคุมตึกสูง เข้มเพิ่มความปลอดภัยด้านไฟไหม้ กำชับใช้ผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟที่สามารถปิดกันไม่ให้เปลวไฟหรือควันเข้าไปสู่บันไดของอาคาร เป็นต้น พร้อมกำหนดคำนิยามต่างๆใหม่ให้รัดกุมขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ฯ) สาระสำคัญ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างและอุปกรณ์ ที่เป็นส่วนประกอบของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อกำหนดตามกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ให้เหมาะสม ทันสมัย มีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอัคคีภัยที่สูงขึ้น และอาคารมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร
ร่างกฎกระทรวงนี้มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ เช่น
1. กำหนดคำนิยามเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน เช่น “เขตทาง” (ความกว้างรวมของทาง) เพื่อแก้ไขปัญหาการวัดความกว้างเขตทาง ที่มีความไม่ชัดเจน “การกันแยก” กำหนดกั้นแยกพื้นที่อาคารออกเป็นส่วนๆ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ไฟลุกลามระหว่างแต่ละส่วนของอาคาร ช่วยให้ผู้คนหลบหนีและลดความเสี่ยงของอาคารที่พังทลายลงจากการแพร่กระจายของไฟเรียกว่าการป้องกันอัคคีภัยแบบเชิงรับ (Passive Fire Protection) “ชั้นใต้ดิน” กำหนดพื้นที่ของอาคารชั้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับดิน มากกว่า 1.20 ม.
2 เพิ่มเติมข้อความ/ข้อกำหนดบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับกฏหมายที่มีการบังคับในปัจจุบันและตามมาตรฐานสากล เช่น
-เพิ่มเติมรายละเอียดถนนสาธารณะเพื่อให้รถดับเพลิงวิ่งสวนกันได้ เดิมไม่ได้กำหนดถนนสาธารณะต้องมีผิวจราจรไว้
-เพิ่มเติม ข้อกำหนดบันไดหนีไฟชั้นใต้ดิน 1-2 ชั้น ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟที่มีทางเข้าออกได้โดยสะดวก เดิมกำหนดชั้นใต้ดินตั้งแต่ 3 ชั้นลงมา
-เพิ่มเติมข้อกำหนดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารแต่ละชั้นไว้ในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถง หรือ หน้าลิฟต์ทุกแห่งของทุกชั้น
-เพิ่มเติมข้อกำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องดับเพลิง แบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้ว (แบบมือถือ) ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรี่องการติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว
-แก้ไขการกำหนดอัตราการทนไฟของผนัง ประตู หรืออุปกรณ์อื่นที่ทำด้วยวัสดุทนไฟ เดิมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับอาคารสูง และไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สำหรับอาคารขนาดใหญ่พิเศษซึ่งไม่ใช่อาคารสูง แก้ไขข้อกำหนดรายละเอียดของบันไดหนีไฟ เพิ่มข้อบังคับเรื่องป้ายบอกทางหนีไฟ เพิ่มเติมวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกอาคาร ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีกำหนด
ทั้งนี้ มีการกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีอยู่ใน วันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ หรือที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และยังก่อสร้างหรือดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทรวมกันมีเพิ่มขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยจึงเห็นถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า ครอบคลุมการจัดให้มีผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟที่สามารถปิดกันไม่ให้เปลวไฟหรือควันเข้าไปสู่บันไดของอาคาร ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ทางหนีไฟและบันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้ ระบบการจัดแสงสว่างและการระบายอากาศและระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งขนาดและลักษณะพื้นที่ของดาดฟ้าที่ใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศ ด้วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความสำคัญของความพร้อมของอาคาร โดยเฉพาะระบบการป้องกันภัย ที่ต้องมีความเหมาะสมเป็นไปตามเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันไปดำเนินการให้รัดกุมด้วย
อนึ่ง “อาคารสูง” หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ 23.00 ม. ขึ้นไป โดยวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้าสำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด ส่วน “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตร. ม. ขึ้นไป
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/photos/