นยปส.รุ่น 14 ชู 5 ยุทธศาสตร์ ‘PRIDE’ แก้ไขปัญหาทุจริตเชิงนโยบายท้องถิ่น เสนอ ป.ป.ช. เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกันการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 14 ร่วมกับ สถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักงาน ป.ป.ช. จัดงานสัมมนาสาธารณะหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น’
พล.ต.อ. วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
พล.ต.อ. วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การที่ นยปส รุ่นที่ 14 ได้เลือกหัวข้อ ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจาก เป็นที่รับรู้ว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทยนั้น มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ความรุนแรงในการทุจริต จะลดระดับลงมาบ้าง แต่ยังคงดำรงปัญหาอยู่ ประเทศไทยมี อปท.ประมาณ 7,350 แห่ง แต่ไม่สามารถมีรายได้ดูแลประชาชนได้เต็มที่ ถ้าหากมีนโยบายที่ช่วยอุดเงินรั่วไหล ป้องกันทุจริต ประชาชนก็จะได้รับการดูแลได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร
‘นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง’ (นยปส.) รุ่นที่ 14 ได้ร่วมกันนำเสนอ ‘ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น’ ต่อสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักงาน ป.ป.ช. หลังเข้าร่วมมอบรมหลักตลอดระยะเวลา 7 เดือนเศษ
ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร นยปส รุ่นที่ 14 กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบาย มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น มีกระบวนการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง การใช้อำนาจและอิทธิพลในการแทรกแซงกลไกทางกฎหมาย หรือการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการดำเนินงานตามโครงการหรือนโยบายรัฐบาล
นายสุรศักดิ์ ปัญญาวุฒิ ประธานผู้อบรมหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 14 เปิดเผยว่า การค้นคว้า ศึกษาและวิจัยร่วมกันของผู้เข้าอบรมหลักสูตรพบว่า การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของท้องถิ่น มีแนวทางป้องกัน 5 แนวทาง ซึ่งได้กำหนดเป็น 5 ยุทธ์ศาสตร์ย่อย คือ PRIDE ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 P = Politics (การเมือง) คือ การสร้างพลังทางการเมืองสุจริตเพื่อป้องกันการทุจริต ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่งสริมผลักดันนโยบายโดยประขาชน ไปสู่ภาคการเมือง พัฒนาสถาบันพรรคการเมือง และสร้างกลไกตรวจสอบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 R = Regulatory (กฎหมาย) คือ เครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลและการบูรณาการด้วยพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนานักการเมืองและบุคลากรท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 I = Involvement (การมีส่วนร่วม) คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดแผน โครงการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 D - Digitalization (นวัตกรรมดิจิทัล) คือ สร้างนวัตกรรมและเครื่องมือในการป้องกันการทุจริต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินนโยบาย จัดฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับโครงสร้าง ปรับกระบวนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้
ยุทธศาสตร์ที่ 5 E = Evaluation (ประเมินผล-ตัวชี้วัด) คือ การพัฒนาตัวชี้วัดในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ พัฒนาตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาตัวชี้วัดที่มีพลวัต
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นต่อไป
ทั้งนี้ หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส. เป็นหลักสูตรที่สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำขึ้นโดยมุ่งหมายสร้างผู้นำและผู้บริหารต้นแบบที่มีจริยธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้ความเข้าใจตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการทุจริต เพื่อเป็นภาคีเครือข่าย สร้างความตระหนักรู้ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และเกิดผลเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ภายในงาน นาย หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘Zero Tolerance Anti - corruption Campaign : How did China stop corruption) สรุปได้ว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ได้มีการปฎิรูปพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งยิ่งใหญ่ มีการบังคับใช้การต้านท้านคอรัปชั่น ตั้งแต่รัฐบาลกลาง จนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย 5 ปีที่ผ่านมา การทุจริตมีประมาณ 3 ล้านเคส และสามารถจัดการลงโทษได้หมดถึง 2.99 ล้านเคส โดยในการลงโทษมีตั้งแต่ระดับ รัฐมนตรี จนถึงเจ้าหน้าที่ทั่วไป ทำไมการป้องกันทุจริตถึงสำเร็จในประเทศ เพราะว่า มีการลงโทษอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่การตักเตือน จนถึงขั้นรุนแรง มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน งบรับของขวัญ งดดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น