กสม. ชี้ การพิจารณาอนุญาตให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ-.เผยกรณีสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กำหนดเลขประจำตัวให้แก่ผู้ขอสัญชาติไทยล่าช้าหลายปี กระทบสิทธิผู้ร้อง- ยืนยันสภากาชาดไทยไม่ได้เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิการรับบริจาคเลือดจากหญิงข้ามเพศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์
ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 26/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ สพม. นครปฐม พิจารณาอนุญาตให้จัดการศึกษาโดยครอบครัวล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็ก แนะปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาต
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2565 ระบุว่า ผู้ร้องมีหนังสือเมื่อเดือนเมษายน 2564 ถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครปฐม หรือ สพม.นครปฐม (ผู้ถูกร้อง) เพื่อยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวให้แก่บุตรของผู้ร้อง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ปีการศึกษา 2564
แต่เอกสารสูญหาย ผู้ร้องจึงยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาต่อผู้ถูกร้องใหม่ เมื่อเดือน กันยายน 2564 จากนั้นได้เข้าพบเพื่อหารือเรื่องแผนการจัดการศึกษาร่วมกับผู้ถูกร้องหลายครั้ง ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้ร้องได้หารือแผนการจัดการศึกษาร่วมกับ สพม.นครปฐม จนครบถ้วนสมบูรณ์
ซึ่งเจ้าหน้าที่ สพม.นครปฐม ได้ประทับตราลงรับในวันที่หารือ และเสนอไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมพิจารณา ต่อมาคณะกรรมการฯ มีมติอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 1 - 3 สพม. นครปฐม จึงมีหนังสือเมื่อเดือนมีนาคม 2565 แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบ แต่ไม่ตรงตามระดับชั้นตามคำขอและไม่ระบุระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด
ผู้ร้องเห็นว่า การพิจารณาอนุญาตจัดการศึกษาล่าช้า ส่งผลให้บุตรของผู้ร้องได้รับการประเมินเลื่อนชั้นและจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นล่าช้าออกไปจึงขอให้ตรวจสอบ และมีความประสงค์ให้เสนอรายชื่อบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดผลและประเมินผล และให้บุตรของผู้ร้องได้รับการวัดและประเมินผลในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 2 พร้อมกันให้แล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2565 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
กสม. พิจารณาจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว จึงประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยัง สพม.นครปฐม ให้พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สรุปได้ว่า กรณีขอให้บุคคลภายนอกที่ผู้ร้องเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า ไม่สามารถอนุญาตให้นำบุคคลที่ผู้ร้องเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งกรณีนี้ กสม. จะดำเนินการติดตามผลต่อไป
ส่วนกรณีขอให้บุตรชายทั้งสองของผู้ร้องได้รับการวัดและประเมินผลทั้งชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 พร้อมกัน ให้แล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2565 เพื่อไม่ให้ผู้เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นล่าช้า สพม.นครปฐม ได้ออกมาตรการเยียวยาแก่บุตรทั้งสองของผู้ร้องในเบื้องต้นแล้ว แต่ปัญหาของผู้ร้องยังไม่ได้รับการแก้ไข กสม. จึงมีมติรับไว้เป็นคำร้องเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. เห็นว่า สิทธิในการศึกษาของเด็กได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
ทั้งนี้ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 กำหนดให้ ครอบครัว ซึ่งประสงค์จะจัดการศึกษายื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาต่อสำนักงาน และกำหนดให้ สำนักงานเสนอคำขออนุญาตจัดการศึกษาให้คณะกรรมการพิจารณาโดยเร็วและแจ้งผลการพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่ผู้ร้องได้แก้ไขปัญหาเอกสารสูญหาย โดยยื่นคำขออนุญาตใหม่ ซึ่งมีผลเป็นคำขอตามกฎหมายแล้ว ต่อมา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมมีมติเห็นชอบ อนุญาตให้ผู้ร้องจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปีการศึกษา 2564 และแจ้งให้ผู้ร้องทราบเป็นหนังสือ รวมเป็นระยะเวลานับแต่วันที่คำขอมีผลตามกฎหมาย จนถึงวันแจ้งผลเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 40 วัน ซึ่งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับคำขออนุญาตจัดการศึกษาของผู้ร้อง
แต่เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำขอครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2564 จนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ณ วันที่คำขอมีผลตามกฎหมาย คิดเป็นระยะเวลา 265 วัน ดังนั้น การที่เอกสารของผู้ร้องสูญหายทั้งที่มีบุคคลลงชื่อรับไว้ ตลอดจนผู้ถูกร้องใช้ระยะเวลาการพิจารณาคำขอของผู้ร้องล่าช้า ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนกรณีการวัดผลและประเมินผลล่าช้า ต่อเนื่องจากการพิจารณาคำขออนุญาตล่าช้านั้น สพม.นครปฐม ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องนำบุตรทั้งสองเข้ารับการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพิจารณาเลื่อนชั้นกลางปีแล้ว อันเป็นการดำเนินการตามหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 จึงให้มีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคำขออนุญาต โดยปรับปรุงแนวทางการขออนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
ในส่วนของขั้นตอนการยื่นแบบแสดงความประสงค์จะขอจัดการศึกษา สำหรับการจัดทำแผนการจัดการศึกษาที่กำหนดให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาร่วมกัน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้แผนการจัดการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาสามารถคาดหมายระยะเวลาที่จะรับการพิจารณาอนุญาตให้จัดการศึกษาได้ทันปีการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้ สพม. นครปฐม วัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยใช้ข้อมูลจากการเรียนการสอนตามแผนการจัดการศึกษาที่ร่วมกำหนดกับผู้ร้อง เพื่อไม่ให้ผู้เรียนหรือผู้จัดการศึกษาเกิดความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องกันระหว่างแผนการสอนกับการวัดและประเมินผล หรืออาจกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ถูกร้องกำหนดรายชื่อในบัญชีร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(2) ให้ผู้ร้องนำบุตรทั้งสองเข้ารับการวัดผลและประเมินผล เพื่อให้สามารถเลื่อนชั้นตามแนวทางการวัดผลและประเมินผลในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หรือเข้ารับการวัดผลและประเมินผลเพื่อเลื่อนชั้นกลางปี ตามแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมาย
(3) ให้กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา และ สพฐ.ร่วมกันพิจารณาทบทวนโครงสร้างหน่วยงานการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีปรัชญาแนวคิดการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากปรัชญาแนวคิดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวสอดคล้องกัน และเห็นควรจัดให้มีหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือ
แก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ และรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนให้ความรู้ ส่งเสริม และสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านการบริหารจัดการ กรณีเกิดปัญหาอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
2. กสม. ตรวจสอบกรณีสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กำหนดเลขประจำตัวให้แก่ผู้ขอลงรายการสัญชาติไทยล่าช้าหลายปี กระทบสิทธิในการได้รับสวัสดิการตามกฎหมาย
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อเดือนเมษายน 2528 ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภท 0 กลุ่ม 00 อาศัยอยู่ที่อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2562
ผู้ร้องได้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ต่อสำนักทะเบียนอำเภอวังเจ้า ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2563 นายอำเภอวังเจ้าได้อนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยและมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางเพื่อกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ร้องตามขั้นตอนของกฎหมาย
แต่ปรากฏว่า ระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปีแล้ว สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง (ผู้ถูกร้อง) ก็ยังไม่แจ้งผลความคืบหน้าหรือผลการดำเนินการ โดยผู้ร้องได้ติดตามเรื่องมาโดยตลอดและมักได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ด้วยวาจาว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นผลให้ผู้ร้องไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และไม่สามารถประกอบอาชีพประจำที่มีความมั่นคงได้ กสม. จึงมีมติเมื่อเดือนมกราคม 2566 ให้ตรวจสอบ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้ตรวจสอบเอกสารคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านของผู้ร้อง แล้วมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ร้อง จึงได้มีหนังสือถึงสำนักทะเบียนอำเภอวังเจ้าและสำนักทะเบียนอำเภอพบพระ
ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏผลการตรวจสอบว่าผู้ร้อง เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ
ตามหลักเกณฑ์ที่จะได้สัญชาติไทย จึงได้ดำเนินการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้แก่ผู้ร้อง และ
มีหนังสือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงนายทะเบียนอำเภอวังเจ้า ให้ดำเนินการต่อไป โดยเมื่อวันที่
18 พฤษภาคม 2566 สำนักทะเบียนอำเภอวังเจ้า ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนในสถานะผู้มีสัญชาติไทยให้กับผู้ร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562
แต่กระบวนการพิจารณาของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กลับใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยกว่า 3 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิ
ของคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง โดยรับรองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็วตามความเหมาะสมของเรื่อง และไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาดำเนินการที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จใน 132 วัน
อีกทั้งในปี 2565 ปัญหาเรื่องสิทธิและสถานะบุคคลเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมากที่สุด โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาที่ล่าช้า
ซึ่ง กสม. ได้รับทราบข้อเท็จจริง ณ ขณะที่มีการตรวจสอบว่า มีคำขอที่อยู่ระหว่างรอให้สำนักทะเบียนกลางตรวจสอบและกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ประมาณ 4,000 - 5,000 รายการ ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสำนักทะเบียนกลางขาดการวางแผนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาสถานะและสิทธิของบุคคล เป็นผลให้การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเป็นไปอย่างล่าช้าเกินสมควรแก่เหตุ
และเป็นเหตุให้ผู้ร้องรวมถึงผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลรายอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สถานะและการกำหนดสิทธิได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐได้ จึงเห็นว่าการกระทำของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว
สรุปได้ดังนี้
ให้สำนักทะเบียนกลางเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะการขอลงรายการสัญชาติไทย ในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ที่มีกระบวนการพิจารณา ขั้นตอน และกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมตามกฎหมาย
และให้กรมการปกครองกำชับสำนักทะเบียนกลางเร่งรัดการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและรวดเร็ว สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง และหลักการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ
ทั้งนี้ ให้กรมการปกครองพิจารณาหามาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้มีบุคลากรทางทะเบียนสอดคล้องเหมาะสมกับสัดส่วนของผู้ที่ได้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านและกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตามกฎหมาย
3. กสม. ยืนยันสภากาชาดไทยไม่ได้เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิการรับบริจาคเลือดจากหญิงข้ามเพศ
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เกี่ยวกับรายงานผล
การตรวจสอบเรื่อง การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กรณีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยไม่รับบริจาคโลหิตจากหญิงข้ามเพศรายหนึ่ง นั้น สำนักงาน กสม. ขอชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
ประการแรก จากการตรวจสอบ ผู้ถูกร้อง คือ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ไม่ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในการรับบริจาคโลหิต อย่างไรก็ตามเนื่องจากในแบบสอบถามคัดกรองผู้ประสงค์บริจาคโลหิตยังมีข้อคำถามเรื่องประวัติด้านเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว กสม.จึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้
ประการที่สอง การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวของ กสม. เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ณ ห้วงเวลาที่เกิดเหตุ คือ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 หลังจากนั้น ทราบว่าศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการที่เป็นพัฒนาการเชิงบวกหลายอย่าง เช่น มีการทบทวนหลักเกณฑ์และปรับแนวคำถามในการคัดกรองการรับบริจาคโลหิต และอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านโลหิตในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และศึกษาเพื่อกำหนดช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัยสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายผู้มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2566 ผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศจากเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวสามารถบริจาคโลหิตได้แล้วตามหลักเกณฑ์การคัดกรองใหม่ ซึ่งล้วนเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี
กสม. ตระหนักและชื่นชมบทบาทอันสำคัญยิ่งทางด้านมนุษยธรรมของสภากาชาดไทย และรับทราบถึงความมุ่งมั่นของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการดูแลมาตรฐานและความปลอดภัยของโลหิต ที่จะนำไปรักษาผู้ป่วย รวมทั้งสิทธิของผู้รับบริจาค และขอสนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่องความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อทางโลหิตในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เพื่อกำหนดช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัย ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
ให้สามารถบริจาคโลหิตได้ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดระยะเวลารอคอย