วสท. ชี้แจงกรณีอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมืองดูดขาผู้โดยสาร เกิดจากวัสดุ 2 ชนิดขัดกันจนง้างแผ่นทางเลื่อนเป็นช่องว่างขนาดใหญ่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ชี้แจงกรณีอุบัติเหตุทางเลื่อนที่ท่าอากาศยานดอนเมืองว่า หลังเกิดอุบัติเหตุพบว่า แผ่นพื้นทางเลื่อนที่หลุดยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่มีการแตกหักของแผ่นหวี และมีบางชิ้นส่วนของหวี แตกหักลักษณะคล้ายเป็นรูปโค้งของวงกลม ซึ่งอาจจะเกิดจากการขัดกันระหว่างวัสดุ 2 ชนิด ในช่วงที่เกิดเหตุ โดยแผ่นทางเลื่อนที่หล่นอยู่ใต้ท้องของกล่องทางเลื่อนอัตโนมัติห่างประมาณ 10 เมตร จากจุดเกิดเหตุ บ่งชี้ว่าน็อตล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด
ขณะที่การตรวจสอบการบำรุงรักษา ท่าอากาศยานได้ว่าจ้างเจ้าของบริษัททางเลื่อนเป็นผู้บำรุงรักษาซึ่งเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบการทำงานของระบบก่อนการเปิดใช้งานทุกวัน จึงไม่มีการทำงานที่ผิดปกติ
เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากมีชิ้นส่วนตกลงไปขัดที่บริเวณปลายหวี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดทางเลื่อนสีเหลืองที่มีลักษณะคล้ายหวี โดยวัสดุนั้นจะต้องมีขนาดเล็กกว่า 4 มิลลิเมตร หรือ ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท ง้างแผ่นพื้นทางเลื่อนจนทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ที่ทำให้ขาของผู้บาดเจ็บหล่นลงไปในช่องว่าง ซึ่งขณะนั้นทางเลื่อนก็ยังคงทำงานต่อไป ก่อนจะหยุดหลังการตรวจจับของเซนเซอร์ว่ามีสิ่งผิดปกติภายใน 20 วินาที จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
ขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากทั้งบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติในไทยมีมาตรฐานสากลออกแบบมาเหมือนกันตามมาตรฐานสากล EN115 บันไดเลื่อน ทางเลื่อนอัตโนมัติ ต้องผ่านการนำเข้าไม่สามารถนำมาประกอบเองได้ ชิ้นส่วนมีความละเอียดอ่อน ช่างทั่วไปที่ไม่ได้รับการฝึกฝนไม่สามารถทำได้
พร้อมย้ำว่า เหตุการณ์ 'ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง' แม้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รุนแรง ก็ถือเป็นอุทาหรณ์บทเรียนนำไปปรับปรุงไม่ให้เกิดซ้ำ นอกจากเรื่องของอุปกรณ์ที่ประกอบในชิ้นส่วนทางเลื่อน บันไดเลื่อนอัตโนมัติจะได้มาตรฐานสากล บางรุ่นมีการเพิ่มระบบความปลอดภัยใหม่ๆเข้ามา
ทั้งนี้ประชาชนจะต้องระมัดระวังในการใช้บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนอัตโนมัติ โดยจะต้องมีสติ เลี่ยง หรือ งดการใช้อุปกรณ์สื่อสารระหว่างใช้ทางเลื่อน บันไดเลื่อนและจับราวบันไดเพราะหากเกิดเหตุขึ้นจะลดความรุนแรงลงได้ ที่สำคัญให้สังเกตเสียงของบันได และทางเลื่อน หากสั่นแรงผิดปกติควรหลีกเลี่ยงการใช้งานทุกกรณี