กรมราง พร้อมชง ครม.ใหม่ พิจารณารถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 สายทาง ‘ศาลายา-ศิริราช-มธ.รังสิต’ หลังผลการศึกษาแบบและรายงาน EIA ผ่านหมดแล้ว ส่วนช่วงบางซื่อ - หัวหมาก - หัวลำโพง รอยาว 5 ปี เพราะต้องปรับแบบสถานีราชวิถี ขณะที่สายหัวลำโพง - มหาชัยประเมินค่าก่อสร้างสูงลิ่ว เพราะต้องปรับเป็นใต้ดิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย โดยกรมรางมีความพร้อมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่พิจารณาในส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง เนื่องจากได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อย และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว
ทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจาก เป็นศูนย์ในด้าน โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา
ส่วนอีกส่วนต่อขยายหน่งคือ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาทนั้น พบว่าสถานีราชวิถี มีการปรับแบบและย้ายตำแหน่งสถานี เพราะบริเวณใกล้เคียงมีโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีส่วนที่ต้องเวนคืน ทำให้ต้องศึกษาออกแบบใหม่ และศึกษา EIA ใหม่ หรือกลับไปเริ่มต้นทำโครงการใหม่ ใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 ปี
ส่วนสายสีแดง ด้านใต้ ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ยังมีประเด็น ผลกระทบด้านเวนคืนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่น แผนเดิมเป็นทางยกระดับ มีแนวคิดปรับเป็นใต้ดินแต่ค่าก่อสร้างสูงมากกว่า 3 เท่า ไม่คุ้มค่า จึงต้องประเมินความเหมาะสมและช่วงเวลาในการก่อสร้างที่จะคุ้มค่า ซึ่งอาจจะก่อสร้างในช่วงที่ปัญหาน้อย ก่อน เช่น วงเวียนใหญ่-บางบอน เป็นต้น
ที่มาภาพ: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)