คกก.ดีเอสไอไฟเขียวมาตรการยึดทรัพย์ขบวนการแชร์ลูกโซ่ ส่ง ปปง. เฉลี่ยคืนผู้เสียหาย หวังตัดวงจรกระทำผิด หลังสถิติ 19 ปี คดีแชร์พุ่งต่อเนื่อง 138 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 2/2566 ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้เสนอแนวทางปฏิบัติในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษทราบและรับข้อแนะนำ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยมีคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ตลอดระยะเวลาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2566 มีการรับคดีกว่า 138 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 52,000 ล้านบาท แต่การกระทำความผิดยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซับซ้อนขึ้น และเกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น มีบุคคลหลากหลายอาชีพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมถึงดารานักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม
กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบได้ทำโครงการวิจัยเชิงคุณภาพกับกลุ่มผู้เสียหาย พบว่านักลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ถึงร้อยละ 85 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าธุรกิจที่ตนเองร่วมลงทุนเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่คาดหวังว่าหากร่วมลงทุนและถอนการลงทุนได้ทันก่อนแชร์ล้มจะได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นกรณีที่มุ่งเอาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเงินผลตอบแทนธุรกิจแชร์ลูกโซ่มาจากเงินของผู้ลงทุนคนหลังที่นำมาหมุนเวียนจ่ายคนก่อนหน้า และยังเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน
กองคดีธุรกิจนอกระบบจึงมีแนวคิดส่งข้อมูลกลุ่มนักลงทุนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวให้สำนักงาน ปปง. ใช้มาตรการทางแพ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในการยึดทรัพย์เพื่อเสนอต่อศาลแพ่งในการมีคำสั่งยึดเพื่อนำมารวมเป็นทรัพย์ที่จะเฉลี่ยแก่ผู้เสียหายที่แท้จริง ซึ่งนอกจากจะเป็นการติดตามทรัพย์สินมาเพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหายได้มากขึ้นแล้ว ยังมีผลเป็นการป้องปรามนักลงทุนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวได้ตระหนักและไม่กล้าลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่อีกทางหนึ่งด้วย จึงได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อทราบซึ่งได้เห็นชอบและมีข้อแนะนำเพิ่มเติม
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการคดีพิเศษยังได้รับทราบและให้ข้อแนะนำในเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยร่วมกับฝ่ายปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามลงในระดับพื้นที่เพื่อมิให้การกระทำผิดขยายวงจนเกิดความเสียหายลุกลาม โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และการปฏิบัติงานบนพื้นฐานความสำเร็จร่วมกัน
“กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มีความมุ่งมั่นในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินนอกระบบอย่างมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ และใส่ใจให้บริการ” พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กล่าว