สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์เรียกร้องสถาบันการเงินหามาตรการปิดสวิทช์บัญชีม้าทันทีหลังรับเหตุ ระบุ 2 ข้อ ชี้ธนาคารพาณิชย์ควรวางหลักปฏิบัติชัดเจน และสถาบันการเงินควรลงโทษหากไม่ดำเนินการ กม.อาชญากรรมไซเบอร์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทุกแห่งปิดสวิทช์บัญชีม้าทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 แต่พบว่าธนาคารต่างๆ ยังไม่ปฏิบัติตามโดยทันทีทำให้มีประชาชนผู้เดือดร้อนจากมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก
โดยสภาผู้บริโภคมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้ธนาคารพาณิชย์วางแนวปฏิบัติและกำชับให้พนักงานของธนาคารปฏิบัติตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 อย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการระงับธุรธรรมทันทีเมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่าได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์และเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันท่วงที ไม่ให้เกิดเสียความเสียหายต่อประชาชน หากเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ธนาคารต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มีมาตรการลงโทษธนาคารพาณิชย์หากไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของสภาผู้บริโภคได้อ้างถึงตัวเลขของประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการถูกมิจฉาชีพหลอกแฮคเงินจากบัญชีตั้งแต่ 17 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวนมากถึง 398 เรื่อง และอุปสรรคของการระงับบัญชีม้าเนื่องจากธนาคารมีเงื่อนไขว่า ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ก่อนภายใน 72 ชั่วโมง ถึงให้ธนาคารอายัดบัญชีม้าได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับพ.ร.ก.จัดการอาชญากรรมไซเบอร์ 2566 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ระงับธุรกรรมไว้ชั่วคราวได้เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าของบัญชีที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง
ทำให้การดำเนินการล่าช้าไม่ทันการที่จะหยุดกระยวนการอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ และในขณะเดียวกันได้ร้องเรียนว่า การเข้าถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทางไซเบอร์เป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจาก ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย ซึ่งแสดงถึงการที่ธนาคารไม่จัดลำดับความสำคัญของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นอันดับแรกของผู้ใช้บริการธนาคาร
โดยสาระสำคัญ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 หรือที่เรียกย่อๆ ว่า พ.ร.ก.จัดการอาชญากรรมไซเบอร์ 2566 กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมของบัญชีที่ต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีของมิจฉาชีพ (บัญชีม้า) และจะต้องนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้ธนาคารผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมทันทีเป็นการทั่วไปนั้น
ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถอายัติบัญชีม้าทันทีเมื่อได้รับทราบเหตุใน 3 กรณีคือ 1. เมื่อสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจฯ พบเหตุอันควรสงสัยเอง 2. เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน และ 3. เมื่อได้รับแจ้งจากประชาชนเจ้าของบัญชีผู้เสียหายว่า ถูกมิจฉาชีพกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์จากประชาชน หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการแจ้งเหตุต่อธนาคารที่ คือ ช่องทางเข้าถึงธนาคารทางโทรศัพท์ที่ธนาคารจัดไว้เพื่อแจ้งอาชญากรรมไซเบอร์นั้น ใช้ระยะเวลาในการรอสายนานเกินไป แสดงถึงการที่ธนาคารไม่ได้จัดลำดับความสำคัญเรื่องการระงับเหตุอาชญากรรมไซเบอร์ที่ธนาคารมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. ดังกล่าว ที่นำมาสู่ความเสียหายของประชาชน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
ซึ่งสภาผู้บริโภคได้แจ้งในแถลงกาณ์ว่าจะติดตามการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่ธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบเหตุการณ์ละเมิดกฎหมาย และสิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป