10 ภาคประชาสังคม เรียกร้องรัฐบาลไทย-ลาว สอบสวนกรณีผู้ลี้ภัยถูกสังหาร พร้อมขอเรียกร้องให้ยุติการปราบปรามผู้ลี้ภัยด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 10 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ประกอบด้วย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation) โฟกัส ออน เดอะ โกลเบิล เซ้าท์ (Focus on the Global South) พันธมิตรเพื่อการมีส่วนร่วมของพลเมืองระดับโลก (CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation) องค์กรฟรอนไลน์ดีเฟนเดอร์ (Front Line Defenders) คณะกรรมการระหว่างประเทศสำหรับการจัดเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรป (Asia- Europe Peoples Forum หรือ AEPF) และองค์กรเฟรชอายส์ (Fresh Eyes) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องทางการประเทศไทยและลาวสอบสวนการสังหารผู้ลี้ภัยชาวลาว และยุติการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สืบเนื่องจากรายงานข่าววันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับการยิงสังหารบุญส่วน กิตติยาโน ซึ่งเป็นทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาววัย 56 ปี และผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
การสังหารบุญส่วน กิตติยาโน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ทางการไทยพบศพของบุญส่วนที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและ มีพรมแดนติดกับประเทศลาว
นายบุญส่วนเป็นสมาชิกของ “กลุ่มลาวเสรี (Free Laos)” ซึ่งมีตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยเป็นเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว ที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพมหานครและการอบรมด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม การปราบปรามทุจริต และประชาธิปไตย ตามรายงานของสื่อ นายบุญส่วนถูกยิงสามนัดขณะกำลังขี่รถจักรยานยนตร์ แม้หน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์จะไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้ลงมือสังหารครั้งนี้ แต่เราสามารถจำแนกข้อมูลได้ว่า บุญส่วนเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้หลบหนีจากการประหัตประหารในลาว และมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว จากข้อมูลตามการรายงานของสื่อ กิตติยาโนอยู่ระหว่างการทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย
ในแถลงการณ์ร่วมยังระบุถึง บุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลาวเสรีที่ต่างเคยถูกควบคุมตัวโดยพลการ และตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายทั้งในลาวและไทย ไม่ว่าจะเป็น อ๊อด ไชยะวง นักกิจกรรมกลุ่มลาวเสรี “หายตัวไป” จากบ้านพักในกรุงเทพฯ เพชรภูธร พิละจัน สมาชิกกลุ่มลาวเสรีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมบ้านกับอ็อด ได้หายตัวไปเช่นกัน หลังจากที่เขาเดินทางออกจากกรุงเทพเพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เวียงจันทน์ จวบจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาเลย
นอกจากนั้นยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มเดียวกัน ถูกทางการลาวจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก สืบเนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์วิจารณ์รัฐบาลลาว และการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพฯ อาทิ สุกาน ชัยทัด สมพอน พิมมะสอน และหลอดคำ ทำมะวง และล่าสุดคือ สว่าง พะเลิด สมาชิกกลุ่มลาวเสรีอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ซึ่งมีการรายงานตามข่าว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 สว่างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่บ้านดอนสาด อำเภอสองคาน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เป็นเหตุให้ถูกตำรวจไม่ทราบหน่วยจับกุม ปัจจุบัน เขายังคงถูกคุมขังโดยไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ไม่มีการแจ้งให้ญาติทราบข้อหา และไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมแต่อย่างใด
@เปิด 7 ข้อเสนอถึงางการไทย-ลาว
ดังนั้นทั้ง 10 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศจึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลลาวและไทยดังนี้
1.ดำเนินการสอบสวนโดยเร่งด่วน รอบด้าน มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ทั้งต่อการสังหารบุญส่วน และเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจเป็นการปฏิบัติมิชอบและการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนตามที่ระบุถึงในแถลงการณ์นี้ โดยให้การสอบสวนดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมายประกันว่าจะมีการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพและรอบด้าน นอกจากนี้ ต้องดำเนินการให้มีความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้ โดยการตรวจสอบชี้ตัว ดำเนินคดี และลงโทษต่อบุคคลใดๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบ
2.ประกันการเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รักที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมเหล่านี้
3.ประกาศพันธกิจดำเนินการป้องกันไม่ให้มีการประหัตประหาร การข่มขู่ และการคุกคามอีกต่อไป ดำเนินการให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้ความเคารพ และเกื้อหนุนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน และดำเนินการยุติการเอาผิดทางอาญาต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม
4.ให้ยุติข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งสอง ซึ่งได้กล่าวถึงในแถลงการณ์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ อันเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดการปราบปรามข้ามชาติต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยชอบธรรม
และมีข้อเสนอแนะสำหรับประชาคมนักการทูตในลาวและไทย และแหล่งทุน ดังนี้
1.เรียกร้องผลักดันให้มีความรับผิดชอบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และให้มีการยุติการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกปกปิดอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในทั้งสองประเทศ
2.สำหรับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลกับทางการลาวและไทย ให้หยิบยกประเด็นการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทั้งสองประเทศขึ้นมาหารือ และรับรองให้มีการเปิดเผยผลลัพธ์จากการพูดคุยเจรจาต่อสาธารณะ
สำหรับหน่วยงายภายใต้องค์การสหประชาชาติ มีข้อเสนอแนะดังนี้
3.ประกันให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและขอลี้ภัย ซึ่งต้องดำรงชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการปราบปรามข้ามชาติ และอำนวยความสะดวกให้มีการดำเนินการพิจารณาคำขอลี้ภัยไปประเทศที่สามโดยทันที