‘ธปท.’ ประเมินความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของ ‘สหรัฐ’ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ‘จำกัด’ แต่ความไม่แน่นอนจะทำให้ตลาดการเงิน ‘ผันผวน’
.....................................
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์ในภาคธนาคารและความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯในปัจจุบันมีจำกัด โดยตลาดยังประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ลุกลามและกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนได้
“ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาว ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรของไทยยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”น.ส.ชญาวดี ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือน ม.ค.2566 ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ใกล้แตะเพดานที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และเรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้สหรัฐฯมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้
ขณะที่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นางเยลเลน ส่งจดหมายถึง เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยเตือนว่า กระทรวงการคลังประเมินว่า กระทรวงฯอาจจะผิดนัดชำระหนี้ตามพันธกรณีทางกฎหมายภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้หรือระงับเพดานหนี้ก่อนเส้นตายในวันดังกล่าว พร้อมย้ำว่า หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเงิน และเศรษฐกิจของสหรัฐ